หุ้นกู้สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง 3,500 ล้านบาท ได้รับความสนใจอย่างท้วมท้น นักลงทุนสถาบันจองซื้อเกินมูลค่า กว่า 2.5 เท่า

ข่าวทั่วไป Thursday May 24, 2001 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
ตามที่บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ชนิดทยอยคืนเงินต้น ครั้งที่ 1 / 2544 โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด สาขากรุงเทพฯ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้ แก่นักลงทุนประเภทสถาบัน และนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา โดยในวันนี้ (23 พฤษภาคม 2544) ได้จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้และแถลงผลสำเร็จการจัดจำหน่ายหุ้นกู้บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) อย่างเป็นทางการ
นายชัชวาลย์ เกียรติไกรกังวาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า “การจัดออกหุ้นกู้ในครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและส่วนหนึ่งเพื่อ นำไปชำระหนี้ที่ครบกำหนด ซึ่งจากความสำเร็จในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจาก นักลงทุนว่ามีศักยภาพทั้งในด้านการบริหารและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่งฯนับได้ว่าเป็นบริษัทลีสซิ่งไทยที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้”
นางมาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ได้กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่าประสบความสำเร็จสูงเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก ธนาคารได้ระดมทุนด้วยการจัดออกหุ้นกู้มูลค่า 3,500 ล้านบาท อายุ 4 ปีให้แก่ บริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัดหรือนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งทางผู้จัดการจำหน่ายได้เปิดให้นักลงทุนประเภทสถาบันแสดงความจำนงในการจองซื้อมาเกินกว่ามูลค่าที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันถึง 2.5 เท่า โดยมีการจัดออกหุ้นกู้ที่อัตราดอกเบี้ย 6.2 % ต่อปี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจยิ่งสำหรับบริษัทและกลุ่มผู้จัดการจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับเกียรติและความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหุ้นกู้ที่บริษัทจัดออกเมื่อปีที่แล้ว และรวมถึงหุ้นกู้ที่จัดออกในครั้งนี้ด้วย
ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นนับได้ว่าเป็นการประสบผลสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในการเป็นผู้นำการดำเนินธุรกิจผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ดังจะเห็นได้จากการได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำต่างๆ โดยในปี 2543ที่ผ่านมาธนาคารได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 60,800 ล้านบาท และในปี 2544 นี้ได้มีการจัดออกหุ้นกู้ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (TAC) และล่าสุด บมจ. สยามพาณิชย์ ลีสซิ่ง ซึ่งความไว้วางใจดังกล่าวมาจากการให้บริการที่ได้มาตรฐาน ทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีโดยใช้ระบบ On Line ในการจัดสรรให้กับผู้จองซื้อตามลำดับวันและเวลา (First Pay — First Serve) พนักงานที่มีความรู้ความชำนาญรวมทั้งเครือข่ายสาขาที่มีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศจึงทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับบริการที่ดีที่สุดจากธนาคาร
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทุนและตราสารหนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับหุ้นกู้ของบริษัท สยามพาณิชย์ลีสซิ่ง ที่ออกจำหน่ายในครั้งนี้นั้น เป็นหุ้นกู้ชนิดทยอยคืนเงินต้นโดยจะทยอยคืนเงินต้นจำนวน 50 % แรกเมื่อครบกำหนดปีที่ 3 ของหุ้นกู้ และจำนวน 50 % ที่เหลือในวันครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2548 หุ้นกู้จะให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.2 % โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน นับว่าเป็นหุ้นกู้ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
ในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยทั้งระบบอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ทำให้บริษัทต่างๆ หันมาให้ความสนใจในการออกหุ้นกู้กันเป็นจำนวนมากเพื่อมาทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายกิจการ ทางธนาคารได้เล็งเห็นถึงโอกาสของการเติบโตของธุรกิจด้านนี้และเริ่มรุกธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยเมื่อปลายปีที่แล้วได้จัดตั้งหน่วยงานฝ่ายตลาดทุนและตราสารหนี้ (Debt Capital Markets) โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้ธนาคารจะเป็นผู้นำ 1 ใน 3 ของตลาดตราสารหนี้
สำหรับหุ้นกู้ของบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายหมดในเวลาที่รวดเร็วนั้น นับเป็นความภูมิใจของธนาคารที่เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีส่วนร่วมในการจัดจำหน่ายครั้งนี้ และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธนาคารได้รับเลือกเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มูลค่า 12,000 ล้านบาท และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มูลค่า 3,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในปีนี้ธนาคารจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดนี้อย่างแน่นอน”
ดังนั้น จึงคาดว่าหากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคงขึ้น และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างเด่นชัดมากกว่านี้ การทำธุรกิจด้านสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) สินเชื่อสัญญาเช่าระยะยาว หรือสินเชื่อลีสซิ่ง (Leasing) สินเชื่อโอนสิทธิเรียกร้อง หรือสินเชื่อแฟคตอริ่ง (Factoring) จะยังสามารถดำเนินต่อไปและมีแนวโน้มก้าวหน้าต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ