กทม. กกต. และองค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ข่าวทั่วไป Tuesday July 11, 2000 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.43 เวลา 14.00 น.) นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประชุมคณะที่ปรึกษาของศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี นายยุวรัตน์ กมลเวชช เป็นประธานที่ปรึกษา นายโคทม อารียา พลเอกสายหยุด เกิดผล เป็นรองประธานที่ปรึกษา พร้อมด้วย คณะที่ปรึกษาอีก 11 ท่าน องค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม เพื่อปรึกษาหารือ รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เชิญเจ้าหน้าที่คณะกรรมการเพื่อการเลือกตั้ง องค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ร่วมหารือว่าในการดำเนินการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค.43 นี้ มีสิ่งใดที่กทม.ควรจะทำแต่ยังไม่ได้ทำบ้าง ซึ่งที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันหลายรูปแบบ และในที่สุดได้สรุปว่าในการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย หรือการทุจริต น่าจะมีศูนย์สำหรับแจ้งเรื่องราวและตรวจสอบเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บ้านมนังคศิลา ซึ่งในศูนย์นี้จะประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชน และคณะกรรมการการเลือกตั้งบางส่วน โดยกทม.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ และศูนย์ดังกล่าวจะจัดตั้งขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเรื่องหมายเลขโทรศัพท์ ดังนั้น ในวันเลือกตั้งจึงจะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายและการทุจริตเลือกตั้ง รวม 3 ศูนย์ คือ ศูนย์ 1555 ของกทม. ศูนย์ของทางตำรวจ คือ 191 และศูนย์ที่บ้าน มนังคศิลา
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่จะนำเจ้าหน้าที่ขององค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อประชาชนมาประจำหน่วยเลือกตั้ง นั้น มีข้อจำกัดทางกฎหมาย เพราะจะต้องมาเป็นเจ้าหน้าที่คะแนน หรือกรรมการตรวจคะแนน ซึ่งก็มีปัญหาในการปฏิบัติโดยจะต้องมีการฝึกอบรม และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ดังนั้นข้อนี้จึงเป็นอันยุติว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องนำเจ้าหน้าที่ขององค์กรเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อประชาชนมาประจำหน่วยเลือกตั้ง เพราะสิ่งที่กทม.ดำเนินการก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว เนื่องจากในการตั้งเจ้าหน้าที่คะแนนหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะมีจำนวนข้าราชการกทม. เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น นอกนั้นจะเป็นอาสาสมัครซึ่งเป็นประชาชน ข้าราชการสังกัดหน่วยงานอื่น และตัวแทนของผู้สมัครฯ ซึ่งก็คานอำนาจกันได้ในตัว อย่างไรก็ดี พลเอกสายหยุด เกิดผล ได้ให้ข้อสังเกตว่าในการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมาย หรือการทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้ง น่าจะมีทางตำรวจเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งในเรื่องนี้กทม.ได้มีการเชิญทางตำรวจมาประชุมร่วมกันอยู่แล้ว
ต่อข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณีเรื่องการติดกล้องจับทุจริตในวันเลือกตั้งจะเป็นไปได้หรือไม่ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คงจะไม่ทำเพราะที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันว่าหากมีการติดกล้องจับทุจริตอาจจะเป็นภาพในทางลบว่าจะมีการทุจริต แต่การที่สื่อมวลชนช่วยกันจับตาว่าตรงไหนที่คิดว่าจะมีการซื้อเสียงจะมีประโยชน์มากกว่า กล่าวคือ ตนไม่อยากให้มีการมองในแง่ร้ายว่าจะมีการทุจริต เพราะผู้สมัครแต่ละรายเป็นผู้ที่น่านับถือ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนกรณีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบงบฯหาเสียงของ
ผู้สมัครแต่ละรายนั้น ได้มีการอภิปรายกันแล้ว กทม.ไม่มีสิทธิไปตรวจสอบ การวินิจฉัยตรงนี้เป็นอำนาจของศาล ฉะนั้นหากผู้ใดเห็นว่ามีการใช้งบฯดังกล่าวเกินก็ขอให้ร้องต่อศาล แต่ตนคิดว่าวงเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งฯ ของผู้สมัครแต่ละคนที่กำหนดไว้ต้อง ไม่เกินจำนวน 21 ล้านบาท นั้น ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเกินวงเงินนี้
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพิ่ม-ถอนชื่อ ภายในวันที่ 12 ก.ค.43 และมีผู้สนใจมาตรวจสอบรายชื่อค่อนข้างน้อยนั้น อาจเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความมั่นใจเพราะการเลือกตั้ง สว.ครั้งที่ผ่านมานั้นก็มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบกับกทม.ได้มีการส่งบัญชีรายชื่อไปตามบ้านด้วย อย่างไรก็ดีสิ่งที่ตนได้รับคำร้องแต่เป็นจำนวนไม่มากว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่ทำไมไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ตนขอเรียนให้ทราบอีกครั้งว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน คือ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ก่อนวันที่ 25 เม.ย.43--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ