กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning by Agri-map ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมได้ถึง 190,319 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์ 40,946 ราย ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกพืชที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตสินค้าชนิดใหม่ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด ในปี 2560 เกษตรกรมีความสมัครใจและปรับเปลี่ยนพื้นที่แล้ว 157,701 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 34,000 ราย จาก 53 จังหวัด เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกอยู่ที่ 32,618 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 10,502 ราย จาก 49 จังหวัด โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศ.พ.ก.) และเครือข่าย ในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri – Map Online) โดยให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน สามารถตอบสนองการใช้งานในพื้นที่ได้ จึงมีการพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ให้อยู่ในระบบโมบาย (Agri - Map Mobile) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูล รายละเอียดของพื้นที่ว่า ดินมีปัญหาหรือไม่ มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใด มีแหล่งรับซื้อผลผลิตชนิดใดที่อยู่ใกล้พื้นที่ของตนเอง เส้นทางไปยังแหล่งรับซื้อ เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมทั้งทางด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อทำการผลิตในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมจะเป็นทางหนึ่งในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร ในช่วงที่ผ่านมา โครงการZoning by Agri-map ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ สามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหลังการปรับเปลี่ยน และเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น อาทิ การปรับเปลี่ยนจากข้าวเป็นอ้อยโรงงาน สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย ปีที่ 1 อยู่ที่ 3,093 บาท/ไร่ จากเดิมที่การปลูกข้าวจะให้ผลตอบแทน 500-700 บาท/ไร่ การปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกหญ้าเนเปียร์ สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 29,000 บาท/ไร่ ซึ่งการปลูกหญ้าเนเปียร์นั้น ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนมีตลาดรองรับการผลิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาและตลาด
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนทั้งหมด 260,304 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 43,313 ราย ใน 67 จังหวัด โดยจะเน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวและยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ไปเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด
สำหรับโครงการ Zoning by Agri - map ได้มีการดำเนินการสร้างการรับรู้ ให้เกษตรกรทราบว่าการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำ มีความเสี่ยงสูงและการปรับเปลี่ยนจะให้ผลตอบแทนดีกว่า นอกจากนั้นเกษตรกรจะเห็นข้อมูลการเชื่อมโยงของตลาด โรงงาน เพื่อรองรับความเสี่ยง ทั้งนี้เกษตรกรสามารถตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ตนเองได้จากแผนที่ Agri - Map ที่แสดงใน ศพก.ใกล้บ้าน หรือผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต รวมถึงสมาร์ทโฟน ผ่านแอพพลิเคชั่น Agri - Map Mobile