กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย นำคณะผู้แทนอุตสาหกรรมไอทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยและเวียดนามเมื่อวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2544 ที่ผ่านมา ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) และคณะรวม 12 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยและผู้แทนบริษัทไอทีของไทย 6 บริษัท เดินทางไปศึกษาดูงานกิจกรรมของบริษัทซอฟต์แวร์และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศเวียดนาม ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ พร้อมด้วยนายต่อ ศรลัมพ์ กงสุล ได้นำคณะผู้แทนดังกล่าวเข้าเยี่ยมคารวะ ดร. เหวียน เถี่ยน เยิน (Dr. Nguyen Thien Nhan) รองประธานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ ณ ศาลาว่าการนครโฮจิมินห์ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยและเวียดนาม
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยแจ้งให้ประเทศเวียดนามทราบว่า ไทยมีนโยบายที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะที่เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เป็นหน่วยงานกึ่งราชการกึ่งเอกชนอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์ มีนโยบายไปในทางเดียวกันกับรัฐบาล คือ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพียงแต่จะเน้นในความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศเป็นหลัก
เวียดนามได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้น 2 แห่งในนครโฮจิมินห์ คือ Saigon Software Park และ Quang Trung Software City โดยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นดำเนินการ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ประสบการณ์จาก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ปัจจุบันนครโฮจิมินห์มีนโยบายในการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยกำลังมีการประชุมเจรจาเพื่อทำความตกลง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลกลาง นครโฮจิมินห์ และภาคเอกชนในการกำหนดคุณภาพและราคาของการใช้อินเทอร์เน็ตให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2003 จะต้องมีราคาและคุณภาพที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ และหลังจากปี 2003 จะต้องสามารถแข่งขันได้
ในระดับโลก อย่างไรก็ดี เวียดนาม กำลังประสบปัญหาในการขาดแคลนบุคลากรด้านไอที รัฐบายจึงมีนโยบาที่จะยกระดับการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าวในมหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะสามารถผลิตบุคลากรป้อนให้กับตลาดเพียงพอในอนาคตสำหรับฝ่ายไทยได้ยกตัวอย่างการพัฒนาด้านบุคลากรของประเทศอินเดียที่ว่า รัฐบาลอนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถฝึกอบรมบุคลากรด้านไอทีได้ และพบว่ามีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากก่าบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในช่วงปีที่ผ่านมา นครโฮจิมินห์ได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีเป้าหมายมุ่งให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการพัฒนาซอฟต์แวร์ในภูมิภาคและเพื่อการส่งออก โดย ดร. เหวียนมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางและนโยบายการพัฒนาไอทีของนครโฮจิมินห์ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของเวียดนามยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น และนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้น ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากนัก โดยยังขาดแคลนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ และยังล้าหลังประเทศไทยในระดับหนึ่ง ดังนั้น การเดินทางเยือนเวียดนามของคณะในครั้งนี้ จึงเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมืออันเป็นประโยชน์ระหว่างเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของทั้ง 2 ประเทศ และเป็นการหาตลาดในเวียดนามให้แก่บริษัทซอฟต์แวร์ของไทยอีกด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านการผลิตซอฟต์แวร์ของไทย ทั้งในแง่การลงทุน การเพิ่มขีดความสามารถ การจัดหาตลาดและข้อมูลการค้า การรับช่วงการผลิต การอำนวยความสะดวกในด้านอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม การติดต่อสื่อสาร สิทธิประโยชน์ อีกทั้งยังมีมาตรการดึงดูดบริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้สามารถรองรับความต้องการภายในประเทศและสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้ต่อไปในอนาคต--จบ--
-อน-