กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 34 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณริมแม่น้ำลาว แม่น้ำยม แม่น้ำปิง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำและพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังขยายวงกว้างมากขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมชุดปฏิบัติการพร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงยึดการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ แบ่งมอบภารกิจ และหน่วยงานรับผิดชอบให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า รวมทั้งการระบายน้ำเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์ และน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่อยู่ในระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤต โดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำจากทางตอนบนไหลมาสมทบ หรือมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำบริเวณลุ่มน้ำ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในลำน้ำพอง และลำน้ำชี ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ในช่วงวันที่ 15 – 30 ตุลาคม 2560 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 34 จังหวัดริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย แม่น้ำลาว ได้แก่ เชียงราย แม่น้ำยม ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร แม่น้ำปิง ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ตาก และกำแพงเพชร แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทุบรี และสมุทรปราการ แม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง ได้แก่ อุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม แม่น้ำชี ได้แก่ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และกาฬสินธุ์ และแม่น้ำมูล ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเปิด – ปิดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับระดับการขึ้น - ลงของน้ำทะเล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำฝน รวมถึงปริมาณน้ำไหลผ่าน หากสถานการณ์มีแนวโน้มขยายวงกว้างให้จัดชุดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์รุนแรงให้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ให้จังหวัดสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังริมฝั่งแม่น้ำ และเสริมพนังกั้นน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงระดมเครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ที่สำคัญให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ โดยกำหนดพื้นที่รับผิดชอบและแบ่งมอบภารกิจอย่างชัดเจน ทั้งในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤตให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ อีกทั้งเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยและวิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยได้อย่างปลอดภัย ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ และพยากรณ์อากาศ รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ หากมีประกาศเตือนภัยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป