กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
วันที่ 10 ตุลาคม 2560 นางอุมาพร สุขม่วง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการนำทีมงานนวัตกร (i-Team) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้โครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ (Government Innovation Lab : Gov Lab) เข้าพบ รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการพัฒนานวัตกรรมการบริการภารรัฐ การปรับปรุงบริการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 1705
ทีมงานนวัตกรกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพัฒนาและออกแบบรูปแบบการปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดระบบราชการ 4.0 ซึ่งกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) อันเป็นหัวใจของ Gov Lab นั้น มีความสอดคล้องกับ ศาสตร์พระราชาหรือหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือเข้าใจเข้าถึงพัฒนาโดยยึดเอาหลักการนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาบริการพร้อมทั้งเปิดกว้างและเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐด้วยกันเองและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน
ในการนี้ รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวชื่นชมทีมงานที่ได้ช่วยกันพัฒนาและปรับปรุงบริการ โดยยึดถึงความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้งานบริการภาครัฐตรงตามความต้องการของประชาชน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยทำให้ห้องปฏิบัติติการทดสอบในประเทศที่มีอยู่มากกว่า 5,000 ห้องปปฏิบัติการ เข้าสู่กระบวนการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ได้มากขึ้น เมื่อมีห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองมากขึ้น จะทำให้มีสินค้าได้รับการตรวจสอบและมีคุณภาพและได้มาตรฐานมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทผู้ผลิต และภาพลักษณ์ที่ดีของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทย ซึ่งทีมงานชุดนี้ ได้เข้าไปศึกษาถึงสภาพปัญหาที่ทำให้ห้องปฏิบัติการไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการรับรอง และนำมาแก้ปัญหาโดยอาศัยมุมมองจากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และคาดหวังว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เอื้อให้ห้องปฏิบัติการเห็นความสำคัญของมาตรฐาน iSO/IEC 17025 และสนใจยื่นขอการรับรองต่อไปมากยิ่งขึ้น
นางอุมาพร สุขม่วง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการส่งเสริมการรับรองห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มพัฒนานวัตกรรมการให้บริการ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการรับรองห้องปฏิบัติการ ปรับปรุงกระบวนงานด้านเอกสารให้ง่ายต่อการใช้งาน พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ และบูรณาการร่วมกันของหน่วยรับรองของประเทศ โดยระยะแรกนี้ได้มีการศึกษาเรื่องปรับปรุงกระบวนการให้ง่ายต่อการขอการรับรอง และเสนอแนะนโยบายที่จะส่งเสริมให้กระบวนการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นที่แพร่หลายและมีห้องปฏิบัติการสนใจเข้ากระบวนการรับรองให้มากขึ้นต่อไป