ไตรมาสแรกปี 2548 TSI ให้ความรู้ด้านการเงินและการลงทุนแก่ 3 กลุ่มเป้าหมายหลักแล้วเกือบ 2 แสนคน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 10, 2005 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute - TSI) ได้ขยายความรู้ด้านการเงินและการลงทุนไปสู่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างครบถ้วน และต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตั้งแต่กลุ่มเยาวชนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา กลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในธุรกิจหลักทรัพย์
“เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 นี้ TSI ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมกว่า 193,500 คน แบ่งเป็นกลุ่มนิสิต นักศึกษา 140,000 คน ประชาชนทั่วไป 50,000 คน และผู้ประกอบวิชาชีพ 3,500 คน โดยกลยุทธ์ที่ TSI ใช้ในการ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกัน โดยในกลุ่มเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษา ตอนปลาย TSI ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาหลักสูตร “เงินทองของมีค่า” และส่งมอบ หลักสูตรดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี 2547 ”
นอกจากนี้ TSI ได้จัดการอบรมเพื่อให้คำแนะนำการใช้คู่มือ และหนังสือเรียนแก่ครูผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ จำนวน 933 โรงเรียน รวม 3,026 คน รวมทั้งมอบหนังสือ “เงินทองของมีค่า” ให้แก่ห้องสมุดโรงเรียน นักเรียนที่เข้าอบรมไปแล้วจำนวน 198,714 เล่ม
“ส่วนในปี 2548 TSI ยังคงร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการผลิตหลักสูตร “เงินทองของมีค่า” เพื่อเผยแพร่ไปยัง โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างบุคลกรที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการออมและการลงทุนไปยังกลุ่มเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า “กลยุทธ์ Train the trainer” โดยการดึงผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ศึกษานิเทศก์ ครู และอาจารย์ของสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ระดับเขตจำนวน 350 ราย จาก 175 เขต ทำการถ่ายทอดความรู้แก่ครูและอาจารย์ทั่วประเทศ จำนวน 8,750 ราย และนักเรียนจำนวน 437,500 คน” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ยังได้มีการเพิ่มช่องทางและการพัฒนาหลักสูตรโดยการจัดทำเป็นหลักสูตร e-Learning ทั้งในรูปแบบ CD-ROM และเผยแพร่ผ่าน Website ทั้งของ www.tsi-thailand.org , www.moe.go.th , www.tkc.go.th ซึ่งทาง TSI จะได้ร่วมมือกับ สพฐ. ติดตามผลการนำคู่มือไปใช้สอนตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม
รองผู้จัดการกล่าวต่อว่า “สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย TSI เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) และด้านการลงทุนขั้นสูง ผ่านโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัย (University Networking Project) ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดอบรม “หลักสูตรเงินทองต้องใส่ใจ ” และจัดอบรมแก่อาจารย์ที่สอนด้านการเงิน”
โดยในปี 2548 นี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมนักวิเคราะห์ และบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด จัด โครงการแข่งขัน Young Research Competition เพื่อค้นหาสุดยอดนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ระดับเยาวชน ซึ่งคาดว่าจะจัดในระหว่างเดือนกรกฎาคม — พฤศจิกายน 2548นี้ และอีกโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือโครงการแข่งขันเกม กลยุทธ์ธุรกิจ (Business Game) ซึ่ง TSI จัดร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเดือนตุลาคม ผู้สนใจเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการสามารถติดตามความคืบหน้าได้จาก www.tsi-thailand.org
นอกจากนี้ TSI ยังเดินหน้าสานต่อโครงการ Information Center โดยจะมีการสร้างศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯใน ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 ที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่แรก และในปี 2548 นี้จะได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากนี้ TSI จะเพิ่มมุมความรู้ตลาดทุน ตามสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 20 จุด เป็น 40 จุด
นายพันธ์ศักดิ์กล่าวต่อไปว่า “ด้านการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป นอกเหนือจากการจัดให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล และพื้นฐานด้านการเงินการลงทุนที่เป็นหลักสูตรมาตรฐาน คือ หลักสูตรเงินทองต้องใส่ใจ, การลงทุนในหุ้น, การลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุนรวม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอนุพันธ์ แก่ประชาชนทุกระดับทั่วประเทศ โดยผ่านความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในโครงการ University Networking และเครือข่ายวิทยากรอาสา”
ในปี 2548 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พัฒนา หลักสูตรวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจในการลงทุน เพื่ออบรมความรู้เชิงลึกในการลงทุน โดยจะเน้นความเข้มข้นของเนื้อหาและฝึกปฏิบัติ ได้แก่ หลักสูตรการวิเคราะห์หลักสูตรด้วยปัจจัย พื้นฐาน หลักสูตรการวิเคราะห์หลักสูตรด้วยปัจจัยเทคนิค หลักสูตรการประเมินมูลค่าและราคาตราสารหนี้ หลักสูตรการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจเลือกกองทุนรวม หลักสูตรการบริหารพอร์ตการลงทุน และหลักสูตรกลยุทธ์การลงทุนใน Index Future
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในตลาดทุนให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ และสามารถรับมือกับการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรองรับตลาดใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนการสร้าง จรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญเสมอ
TSI จะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ได้เข้าอบรมในหลักสูตร CISA (Certified Investment and Securities Analyst Program) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะด้านการวิเคราะห์การเงินการลงทุนเพื่อผลิตนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนมืออาชีพเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ TSI ยังได้พัฒนาหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในหลักทรัพย์ (Modern Investment Professional program) หรือหลักสูตร MIP ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับสูงเกี่ยวกับการ ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพให้แก่บุคลากรทุกด้านในสายอาชีพธุรกิจหลักทรัพย์และส่งผลต่อความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยในระยะยาว
“TSI เป็นหน่วยงานเดียวในประเทศไทย ที่มีแผนพัฒนาบุคลากรในทุกกลุ่มให้มีความรู้ด้านการเงินและการลงทุนอย่างครบวงจร ถือเป็นการวางรากฐานความรู้ที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผน แม่บทตลาดทุนไทยเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงเป็นหน่วยงานหลักที่จะมุ่งมั่นพัฒนาด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รองผู้จัดการกล่าวสรุป
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049
วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ