กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักสงเสริมและพัฒนาการเกษตร เขต 7 นครราชสีมา
"ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น" หรือ Agri – Map เข้าใจยากแต่เมื่อลงมือทำ พบว่าถูกที่ถูกเวลากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งรับมือกับฝนฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอนและภาวะเศรษฐกิจที่รัดตัว ส่งผลให้ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิประสบความสำเร็จ มีเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์โครงการทั้งสิ้น 134 ราย พื้นที่ 622.75 ไร่ โดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่นา ให้เหมาะสมฯ ปีละ 1,200 ไร่"
นายภานุวัฒน์ ทิพย์ตา เกษตรอำเภอคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีเพาะปลูก 2559/60 อ.คอนสวรรค์ มีเกษตรกร สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก แต่มีเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์โครงการทั้งสิ้น 134 ราย พื้นที่ 622.75 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรได้รับเงินค่าปรับพื้นที่/ระบบน้ำไร่ละ 2,000 บาท และค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 3,000 บาท พร้อมเข้าร่วมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวน 2 ครั้ง
โดยสวนกล้วยน้ำว้าของยายคำบง ถือเป็นแปลงต้นแบบการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ (Agri – Map) ภายใต้โครงการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ของสำนักงานเกษตรอำเภอคอนสวรรค์ และ เป็นต้นแบบ หรือ โมเดล ของการปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแห่งหนึ่งด้วย
นางคำบง งอนชัยภูมิ หรือ "ยายคำบง" เกษตรกร วัย 65 ปี ชาวบ้านโสก อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ต้นแบบการปรับเปลี่ยนแปลงนาหนีความแห้งแล้งซ้ำซาก มาปลูกพืชเหมาะสมกันดิน เปิดเผยว่า ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาตนประกอบอาชีพทำนามาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย พ่อแม่ก็พาทำนา เมื่อมีครอบครัว ตนกับสามีและลูกๆ ก็ยังคงยึดอาชีพทำนา ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บนที่ดินผืนสุดท้ายที่เป็นมรดกตกทอดมาจำนวน 22 ไร่ ปัญหาที่พบเป็นประจำของชาวนา คือ ภัยธรรมชาติโดยเฉพาะความแห้งแล้ง ผลผลิตข้าวแต่ละปีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย บางครั้งไม่พอกินด้วยซ้ำ เพราะแล้งมาก น้ำไม่มีทำนาก็ขาดทุนยับเยิน เพราะพื้นที่นาในบ้านโสก เป็นดินเหนียว และรอน้ำจากฝนตามฤดูกาลเท่านั้น ไม่มีแหล่งน้ำ หรือระบบชลประทานผ่านพื้นที่ สระน้ำที่ขุดไว้ ก็ไม่มีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงนาข้าว
จากปัญหาที่พบเจอซ้ำซากตลอดชีวิตการเป็นชาวนา จึงมีความคิดที่อยากสร้างอาชีพใหม่ และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทราบว่า รัฐบาลมีนโยบาย ที่จะให้เกษตรกรลดพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสมเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบอื่นแทน ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอคอนสวรรค์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกมาแนะนำแจกแจงรายละเอียดโครงการ "ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น" จึงมีความสนใจ และปรึกษากับครอบครัวแล้ว ทุกคนเห็นด้วย จึงปรับพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 5 ไร่ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว หลังสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ครอบครัวทุ่มเทเวลาให้กับการคิดหาวิธีใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยการให้ลูกหลานศึกษาหาข้อมูล จากทาง อินเตอร์เน็ต (Internet) และ มองหาพืชที่เหมาะกับพื้นที่ของตัวเอง จึงเลือกกล้วยน้ำว้าพันธุ์ ปากช่อง 50 โดยเริ่มแรกปลูกกล้วยน้ำว้าไว้รอบสระน้ำก่อน ปรากฏว่าต้นกล้วยงอกงาม เขียวขจี ไม่มีโรคและแมลง ที่สำคัญไม่ต้องดูแลรักษามากนัก มีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ขายได้ทั้งผล หน่อ ต้น ใบตอง และมีตลาดรองรับ จากนั้นจึงขยายไปในพื้นที่ 5 ไร่ ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยปลูกกล้วยน้ำว้าไปด้วย และทำอาชีพเสริม แบบเกษตรผสมผสาน เช่น การประมงเลี้ยงปลา การปศุสัตว์ เลี้ยงโคเนื้อ สามารถนำปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์มาใช้ในสวนกล้วยน้ำว้า ลดต้นทุนการผลิต ด้านค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี พร้อมได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริงในการปลูกกล้วยน้ำว้าด้วยตัวเอง ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค นอกจากนี้ยังขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง เพิ่ม โดยลงทุนเอง ซึ่งได้ผลผลิตดีเช่นกัน
ปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตจากการทำสวนกล้วยน้ำว้าออกมาแล้ว ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น เฉพาะช่วงเดือน เม.ย.- ก.ย. 2560 มีรายได้แล้วกว่า 40,000 บาท จากการขาย หน่อกล้วย, ใบตอง และผลผลิตกล้วยน้ำว้า ทั้งดิบและสุก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุขอบอุ่นขึ้นและมีความภูมิใจที่ประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่งนอกจากนี้มีความภูมิใจที่ได้แบ่งปันประสบการณ์แก่เกษตรกรผู้สนใจ เพราะปัจจุบันแปลงปลูกกล้วยของตนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนด้วย หากเปรียบเทียบกับชีวิตทำนาอย่างเดียว ที่ต้องหยิบยืมเงินมาลงทุน ต้องรอเงินจากการขายข้าวปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่วันนี้ครอบครัวลืมตาอ้าปากได้ มีรายได้ทั้งปีจากการผลผลิตที่หลากหลาย และมีความสุขกับชีวิตเกษตรกร นายคำบง กล่าว
สำหรับ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งสิ้นจำนวน 143,967 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมประมาณ66,026 ไร่ มีเกษตรกรยอมปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไปทำการเกษตรอื่นจำนวน 261 ราย พื้นที่ 1,250 ไร่ โดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาให้เหมาะสมฯ ปีละ 1,200 ไร่