กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ AIS ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F1+(tha)'
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดอยู่ด้านล่างของรายงานนี้
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การลงทุนที่สูงทำให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตลดลง: ฟิทช์เชื่อว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของ AIS จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2560 และ 2561 เนื่องจาก จากการลงทุน และการชำระค่าคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ของ AIS จะติดลบ เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และเงินปันผล ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0 เท่าในปี 2560 และ 2561 (ครึ่งปีแรกของปี 2560 อยู่ที่ 1.8 เท่า)
การแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย น่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2560 และในปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญในการทำกำไร มากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset Subisidy) โดยตั้งแต่ไตรมาสแรก ของปี 2560 AIS และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (มีอันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้ลดการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และให้ส่วนลดค่าเครื่องเฉพาะลูกค้าในระบบรายเดือน ฟิทช์คาดว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile จะมีการลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 หลังจากที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าของ DTAC ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560
กำไรที่เติบโต: ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ AIS จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 6.3 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ AIS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ร้อยละ 8 จากร้อยละ 14 ในปี 2559 นอกจากนี้กำไรของ AIS ยังได้รับผลบวกจากการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) เป็นร้อยละ 2.5 ของรายได้ จากร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 EBITDA Margin ของ AIS ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 46 จากร้อยละ 41.4 ในปี 2559
รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเติบโตของบริการด้านข้อมูล: ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงเครือข่าย) ของ AIS จะเติบโตประมาณร้อยละ 5-6 ต่อปี ในปี 2560 เนื่องจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการให้บริการด้านข้อมูล และการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของการให้บริการที่ไม่ใช่เสียง จะถูกลดทอนจากรายได้จากการให้บริการด้านเสียงที่ลดลง ในขณะที่รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงน่าจะเติบโตอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 2.5 พันล้านในปี 2560 จาก 860 ล้านบาท ในปี 2559
ผู้นำตลาด: AIS สามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (2559: ร้อยละ 49) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด
AIS และ AWN มีอันดับเครดิตเท่ากัน: อันดับเครดิตของ AWN เท่ากับอันดับเครดิตของ AIS โดยสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง AWN และ AIS ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN และมีอำนาจควบคุมการบริหารและการดำเนินงานของ AWN ทั้งหมด AWN เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1GHz และ 1.8GHz และชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ในเดือนพฤษภาคม 2559 ดังนั้น AWN จึงมีความสำคัญต่อ AIS อย่างมากในฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบใบอนุญาตของกลุ่ม
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่า DTAC เนื่องจาก DTAC มีขนาดรายได้ที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า AIS อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC
อันดับเครดิตของ AIS อยู่ในระดับเดียวกันกับ PLDT Inc. หรือ PLDT ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB+/AAA(phl)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศ ถึงแม้ว่า PLDT จะมีอัตตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า AIS แต่สถานะทางธุรกิจของ PLDT แข็งแกร่งกว่า AIS เนื่องจาก PLDT มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายโทรศัพท์แบบสาย และโทรศัพท์เคลือนที่
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากการให้บริการเติบโตร้อยละ 4-6 ต่อปี ในปี 2560 และ 2561
- EBITDAR margin ในปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 45-47 ในปี 2560 และ 2561 (2559: ร้อยละ 41.4) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียม USO
- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 4.0-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2560 และ 2561 (2559: 4.76 หมื่นล้านบาท)
- ชำระค่าซื้อกิจการ บริษัท ซีเอส ล๊อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ในปี 2561
- จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 70 ของกำไร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
AIS
ปัจจัยบวก
- บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวก
- EBITDAR Margin ของบริษัทสูงกว่าร้อยละ 45 อย่างต่อเนื่อง (ในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 46.6)
ปัจจัยลบ
- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage สูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท
AWN
ปัจจัยบวก
- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในแง่บวกของ AIS โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และ AWN ไม่อ่อนแอลง
ปัจจัยลบ
- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ AIS ในแง่ลบ
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ AIS อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดสุทธิจะเป็นลบในปี 2560 โดยสภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท และวงเงินที่สามารถกู้ได้จำนวน 8.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งเพียงพอสำหรับเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 1.16 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 นอกจากนี้การที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมน่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องในกรณีที่กระแสเงินสดบริษัทเป็นลบในปี 2560
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
-- อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-- อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
-- อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)'