กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
เปิดผลงานวิจัย 3 สถาบันการศึกษา จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ เจาะลึกงานพระราชดำริรัชกาลที่ 9 "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่" คือรากฐานสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมสานต่อขยายผลงานวิจัยขับเคลื่อนแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงสู่สหกรณ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริและสหกรณ์ทั่วประเทศ หวังสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิกและชุมชน
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานงานแถลงผลการวิจัยแนวทางขับเคลื่อนแนวพระราชดำริเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชน ภายใต้ชื่องาน "ร่วมวิจัยถวายพระองค์" เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการครัวเรือน ชุมชน ตามแนวทาง "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่" ให้ประชาชน คนไทยได้นำไปปรับใช้เพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง 3 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 2 เพื่อให้ชุมชนสามารถรวมกลุ่มได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมองเห็นว่าการรวมกลุ่มของชาวบ้านในชุมชนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและการเชื่อมโยงตลาด ตลอดจนแหล่งทุนภายนอก โดยเฉพาะการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า สหกรณ์ทั่วประเทศมีประมาณ 8,000 แห่ง ประชาชนที่เป็นสมาชิกกว่า 11 ล้านคน ปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 16.53 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ทั้งนี้ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพการพัฒนาในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี จนพบพระอัจฉริยภาพจากการค้นพบแนวปฏิบัติในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปสู่การพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน 3 ขั้น ได้แก่ ครัวเรือนพึ่งตนเอง ชุมชมรวมกลุ่มพึ่งตนเองได้ และชุมชนออกสู่ภายนอก นอกจากนี้ ยังได้ถอดบทเรียนความสำเร็จเป็น "บันได 7 ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับสมาชิกชุมชนที่จะร่วมกันพัฒนาตนและพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างสมดุลและต่อเนื่อง
บันได 7 ขั้นสู่การรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย (1) การประเมินความพร้อมของกลุ่ม (2) การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก (3) พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย (4) เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต (5) กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทุกขั้นตอนหลักของกลุ่ม (6) ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อประเมินผลและเพิ่มประสิทธิภาพ (7) สร้างทักษะการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานให้ตรงจุดสำคัญและต่อเนื่อง
ด้านสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ไปศึกษาในบริบทชนพื้นเมือง พบว่า กลุ่มชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงและชาวเลมอแกนได้หันไปสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาดและระบบเงินตรา จากเดิมที่มีการใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงได้แปรเปลี่ยนไปสู่การสร้างหนี้สินและการบริโภคแบบคนเมือง
การวิจัยเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง" จึงมุ่งออกแบบแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาชาวเลมอแกนและกะเหรี่ยง สู่วิถีชุมชนพอเพียงพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ การเรียนรู้ปัญหาที่เกิด การทำบัญชีครัวเรือน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้กระบวนการกลุ่ม เพื่อเรียกคืนความสมดุลในการหาเลี้ยงชีพ การดูแลสิ่งแวดล้อม และวิถีพื้นเมือง
ขณะที่ผลการวิจัยเรื่อง "จากสหกรณ์ สู่ทฤษฎีใหม่ผลงานวิจัยตามศาสตร์พระราชา" ของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ก่อให้เกิด "ตัวแบบธุรกิจสหกรณ์และธุรกิจชุมชน" ที่สามารถสร้างพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ซึ่งใส่ใจในการค้าที่เป็นธรรม เปิดให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วม และนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สามพรานโมเดลและคิชฌกูฏโมเดล
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะนำผลการศึกษาจาก 3 มหาวิทยาลัย ไปพัฒนาขยายผลและประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ต่าง ๆ โดยเบื้องต้นจะตั้งเป้าหมายว่าจะขับเคลื่อนในสหกรณ์โครงการพระราชดำริ 76 แห่งและสหกรณ์พื้นที่โครงการหลวง 50 สหกรณ์ เป็นอันดับแรก ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้เป็นสหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริและอีกส่วนหนึ่งเป็นสหกรณ์ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะนำผลการวิจัยแนวทางสร้างความเข้มแข็งตามบันได 7 ขั้น ไปใช้ในการวางรากฐานให้กับสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยจะนำผลการวิจัยนี้มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและวางรากฐานให้สหกรณ์แบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะเผยแพร่ผลการวิจัยไปยังสหกรณ์ต่าง ๆ จนเกิดความเข้าใจและเข้าร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อให้สหกรณ์เกิดความเข้มแข็งและมั่นคง หากสหกรณ์ภาคการเกษตรสามารถนำผลการวิจัยนี้ไปปรับใช้และพัฒนาการดำเนินงานจนประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลไปยังสหกรณ์ทั่วประเทศต่อไป
" กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนางานสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้า นำมาซึ่งประโยชน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนในระดับฐานราก และเห็นว่าจากนี้ไปสหกรณ์จะต้องบริหารงานภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องรู้จักประมาณตนในการดำเนินธุรกิจ คำนึงถึงเหตุผล ความเหมาะสม และประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลักสำคัญในการดำเนินงาน จึงจะทำให้สหกรณ์เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและประสบผลสำเร็จ และเติบโตอย่างมีเป้าหมาย ไม่เกิดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งหลักเศรษฐกิจพอเพียงคล้ายคลึงกับหลักสหกรณ์ ที่เน้นในเรื่องการพึ่งพาตนเองและบริหารจัดการตนเองเพื่อให้เกิดความอยู่รอด ถ้าทุกคนเข้าใจบริบทของสหกรณ์ การดำเนินงานของสหกรณ์ต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่คนปัจจุบันกลับไปมองว่าสหกรณ์ก็คือองค์กรที่ทำธุรกิจเหมือนเอกชนทั่วๆไป ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะที่จริงแล้วสหกรณ์ต้องทำภายใต้กรอบเพื่อสมาชิกเท่านั้น อะไรที่ทำให้สมาชิกได้ประโยชน์นั่นคือหน้าที่ของสหกรณ์ ฉะนั้น เป้าหมายของการพัฒนาสหกรณ์ในวันนี้คือสหกรณ์ต้องไม่มีความเสี่ยงในการดำเนินงาน ไม่มีเรื่องการทุจริต และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และสหกรณ์ต้องดูแลความเป็นอยู่และคำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก ตอนนี้กรมฯอยากเน้นให้สหกรณ์หันกลับมามองสมาชิก ให้มีความอยู่ดีกินดีตามเจตนารมณ์ของการตั้งสหกรณ์ในครั้งแรก สหกรณ์จะอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง และหันมาน้อมนำศาสตร์พระราชา ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินงาน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความยั่งยืนแก่สหกรณ์ ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสดีที่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนให้การพัฒนางานสหกรณ์ให้เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 ได้พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์ ในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อขบวนการสหกรณ์ของไทยต่อไป" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว