กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ไทยออยล์
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากแรงหนุนของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลง จากการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลง และอัตราการกลั่นที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักและความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ทั้งสองปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบโลกในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจาก ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง จากการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากผลกระทบของพายุเฮอริเคน Nate ประกอบกับโรงกลั่นหลายแห่งยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้น้ำมันที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ต.ค.60 ปรับลดลงราว 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 462.2 ล้านบาร์เรล
- ติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะรุนแรงและกระทบตลาดน้ำมันหรือไม่ หลังในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรักจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศ รวมถึงรัฐบาลกลางของอิรัก โดยล่าสุด สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น หลังกองทัพของอิรักและอิหร่านเตรียมฝึกซ้อมทางทหารบริเวณพื้นที่ชายแดนของอิหร่าน ซึ่งติดกับพื้นที่ของเคอร์ดิสถาน เพื่อแสดงแสนยานุภาพ นอกจากนี้ ศาลอิรักยังออกหมายจับผู้นำของ KRG และผู้ช่วยอีก 2 คน หลังจัดการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรัก
- จับตาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งได้มีการตกลงกันตั้งแต่เดือน ก.ค. 58 โดยมี 6 ประเทศร่วมการเจรจาครั้งนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส และเยอรมนี โดยในวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา นายทรัมป์ปฏิเสธที่จะรับรองว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ และให้สภาคองเกรสตัดสินใจว่าจะนำมาตรการคว่ำบาตรกลับมาใช้กับอิหร่านอีกครั้งหรือไม่
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลัง EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2017 ปรับเพิ่มขึ้นราว 380,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2018 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจะปรับเพิ่มขึ้นราว 680,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มการคาดการณ์จากเดือนที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 590,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/60 จีน ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตจีน ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ต.ค. 60)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปก และ นอกกลุ่มโอเปก ที่เดินหน้าปรับลดกำลังผลิตน้ำมันลงอย่างต่อเนื่อง นำโดยซาอุดิอาระเบียซึ่งจะลดการส่งออกน้ำมันในเดือนหน้าลงประมาณ 560,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันตึงตัวมากขึ้นและทำให้ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากพายุเฮอริเคน Nate ที่ได้เคลื่อนตัวไปยังชายฝั่ง Louisiana ทำให้ผู้ผลิตต้องดำเนินการหยุดแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบหลายแห่ง รวมทั้งส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกลดลงร้อยละ 93 นอกจากนั้นสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิรักกับเคิร์ดยังทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังมีข่าวอิรักเตรียมกองกำลังทหารเพื่อเข้าจู่โจมกลุ่มเคิร์ด อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ต.ค. 60 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 462.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2 ล้านบาร์เรล