กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) ที่ 'A-' พร้อมกับประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ 'AAA (tha)' สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตสนับสนุน
อันดับเครดิตสากล (IDR) ของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของ Standard Chartered Bank (SCB) ที่ 'a' อยู่ 1 อันดับ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจาก SCB ซึ่งเป็นธนาคารแม่ เนื่องจากฟิทช์มองว่า SCBT ว่าเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (strategically important subsidiary) ต่อ SCB อีกทั้งฟิทช์ยังพิจารณาถึงการที่ SCB เป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด (99.87%) ใน SCBT บทบาทสำคัญของ SCBT ในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศของกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการเชื่อมโยงและการผสานการดำเนินงานในระดับสูงระหว่าง SCBT กับธนาคารแม่ ทั้งในด้านกลยุทธ์ ผู้บริหาร การระดมทุน (funding) และการธุรกิจ และ SCBT ยังใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่
แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลของ SCBT ไม่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อย่างเช่นที่ธนาคารลูกรายอื่นของ SCB ที่ดำเนินกิจการอยู่ในตลาดหลักในภูมิภาค ทั้งนี้เนื่องจาก SCBT มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารลูกรายอื่นในภูมิภาคเอเชียและการที่ฟิทช์ไม่ได้มองว่าประเทศไทยเป็นตลาดหลักในเชิงกลยุทธ์ของ SCB เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยแนวทางการพิจารณาอันดับเครดิตของ SCBT นี้ เป็นแนวทางเดียวกันกับที่ฟิทช์ใช้กับธนาคารลูกของธนาคารต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยรายอื่น
พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT โดยฟิทช์เชื่อว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากธนาคารแม่หรือ SCB ในกรณีที่มีความจำเป็น
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCBT สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCB
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร ได้รับการคงอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT มีปัจจัยในการพิจารณามาจากความแข็งแกร่งของฐานะเงินกองทุน โดยธนาคารมีอัตราส่วน Fitch Core Capital ที่ 28.2% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ 27.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ฟิทช์เชื่อว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับสูงจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงได้ และคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกภายในสิ้นปี 2560 เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะปรับตัวลดลงหลังจากการขายธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยในประเทศให้กับกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศเสร็จสิ้น แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่า SCBT อาจจะไม่รักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูงแล้วไว้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากธนาคารแม่อาจมีความต้องการที่จะได้เงินกองทุนบางส่วนคืนหรือนำเงินกองทุนดังกล่าวไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่นเพื่อการเติบโตของสินทรัพย์
ฟิทช์ไม่คาดว่าการขายธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารเนื่องจากธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เป็นธุรกิจหลักของธนาคาร SCBT จะยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศซึ่งเป็นธุรกิจที่ธนาคารสามารถใช้ความได้เปรียบจากความแข็งแกร่งของเครืองข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มได้
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่าความสามารถในการทำกำไรของ SCBT จะปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง แต่น่าจะยังคงอ่อนแอกว่าธนาคารคารอื่นในประเทศและธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน แรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์น่าจะอ่อนตัวลงเนื่องจากการลดลงของสินเชื่ออย่างมากในขณะอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ที่ 123% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งน่าช่วยรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน SCB อาจส่งผลอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว เนื่องจากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต (country ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-'
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด จึงไม่มีปัจจัยใดที่อาจทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตภายในประเทศอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ถูกปรับลดลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทย แต่ฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+' อยู่ 1 อันดับ
การปรับตัวลดลงของแนวโน้มที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งอาจแสดงได้จากการลดลงของบทบาทสำคัญของ SCBT ในการสนับสนุนธุรกิจของกลุ่ม หรือ การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่อย่างมีนัยสำคัญ) อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิต การปรับตัวลดลงของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SCBT
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ฟิทช์มองว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับในระยะปานกลาง เว้นแต่ธนาคารจะมีโครงสร้างเครดิตโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านรายได้และอัตรากำไรและด้านคุณภาพของสินทรัพย์ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจได้รับการปรับลดอันดับ หาก SCBT มีเครือข่ายในการธุรกิจ (franchise) ที่ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือการที่ฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวด้อยลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตคล้ายกัน อีกทั้งการปรับตัวด้อยลงของคุณภาพของสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตคล้ายกัน อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับได้เช่นกัน
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F2'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F2'
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '1'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'F1+(tha)'