กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ล่าสุด ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 56.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 50.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 54.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปผันผวนเช่นกัน โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 69.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดีเซลลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- โรงกลั่นน้ำมันบริเวณ U.S. Gulf Coast กลับมาดำเนินการ เนื่องจากไม่ได้รับความเสียหายจากพายุ Nate อาทิ โรงกลั่น Pascagoula (กำลังการกลั่น 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Chevron ในรัฐ Mississippi
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ต.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 5 แท่น มาอยู่ที่ 743 แท่น
- หน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ก.ย. 60 เพิ่มขึ้น 8.9 % จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย Saudi Aramco ประกาศแผนปรับลดการจัดสรรน้ำมันดิบสำหรับลูกค้าเทอมในเดือน พ.ย. 60 ต่ำกว่าปริมาณความต้องการ 560,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรัก นาย Jabar al-Luaibi เร่งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ North Oil Co. ให้รีบฟื้นฟูท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan (ปริมาณสูบถ่าย 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ตรงส่วนที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากอิรัก (อีกส่วนจากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน) หลังรัฐบาลยึดเมืองสำคัญจากขบวนการก่อตั้งรัฐอิสลาม (IS)
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ต.ค. 60 ลดลง 7,183 สัญญา WoW มาอยู่ที่ 281,853 สัญญา ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน
- ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin ระบุว่าการตัดสินใจขยายเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 ต้องขึ้นกับภาวะตลาดในขณะนั้น ทำให้ผู้ค้าเห็นว่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองโลกทวีความตึงเครียด อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ปฏิเสธการรับรองว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ ถึงแม้ว่าหน่วยงานผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รายงานว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตาม สร้างความไม่พอใจแก่ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ อาทิ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยผู้บริหารฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป นาง Federica Mogherini กล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิจะยกเลิกข้อตกลงนานาชาติ และสหภาพยุโรปจะยังคงยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ทั้งนี้รัฐสภา (Congress) ของสหรัฐฯ มีเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 60 ในการพิจารณาว่าจะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน ห้ามส่งออกน้ำมันดิบอีกหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกหายจากตลาดราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้อิรักได้ส่งกองกำลังทหารเข้าบริเวณทางตอนใต้ของ Kirkuk ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (KRG) ซึ่งทางรัฐบาลกลางอิรักเผยว่าไม่มีการปะทะกับกลุ่ม KRG แต่ KRG ระบุกองกำลังอิรักยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ดังกล่าวได้ และเกิดการยิงปะทะระหว่างกลุ่ม KRG และอิรัก แม้ปัจจุบันแหล่งผลิตน้ำมันดิบยังไม่ได้รับผลกระทบแต่เป็นปัจจัยเฝ้าระวัง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 55.0-59.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 49.0-49.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai อยู่ในกรอบ 53.0-57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้น จากอุปสงค์น้ำมันเบนซินของภูมิภาคเอเชียในไตรมาสที่ 4/2560 แข็งแกร่ง จากความต้องการใช้ของอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ประกอบกับเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่น Trainer (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) ในรัฐ Pennsylvania ของสหรัฐฯ ของ Monroe Energy (บริษัทในเครือ Delta Air Lines Inc.) ที่หน่วย Platformer (กำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 60 ขณะที่ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 7 ต.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 270,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 2.53 % อยู่ที่ 10.30 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดตั้งแต่ 31 ธ.ค. 59 อย่างไรก็ตามหลังพายุ Nate พัดผ่าน โรงกลั่นในสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ เริ่มกลับมาดำเนินการ อาทิ โรงกลั่น Alliance (กำลังการกลั่น 247,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 และโรงกลั่น Meraux (กำลังการกลั่น 125,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Valero ประกอบกับหน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซิน สัปดาห์สิ้นสุด 6 ต.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 214,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 648,000 บาร์เรลต่อวัน (นำเข้าจากแคนาดา โปรตุเกส อิตาลี ตุรกี และเนเธอร์แลนด์) และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.04 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.5–69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนลดลง โดยโรงกลั่นของอินเดียหลายแห่งเสนอขายน้ำมันดีเซล อาทิ Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. (MRPL) ออกประมูลขายปริมาณ 488,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 27-29 ต.ค. 60 และ Bharat Petroleum Corp Ltd. (BPCL) ออกประมูลขายปริมาณ 260,000 บาร์เรล ส่งมอบครึ่งหลังของเดือน ต.ค. 60 ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 7 ต.ค.60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 58,000 บาร์เรล หรือ 6.95 % อยู่ที่ 8.86 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามตลาด Ultra-Low Sulfur Diesel แข็งแกร่งหลัง Arbitrage จากเอเชียไปตะวันตกเปิด ผนวกกับออสเตรเลียใช้น้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามการผลิตถ่านหินที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง Bloomberg ประมาณการณ์อุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน เดือน ส.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.97 % อยู่ที่ 3.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งบริษัท PV Oil ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S แบบเทอม (Term) ปริมาณรวม 900,000 บาร์เรล ส่งมอบเดือน ต.ค.- ธ.ค. 60 และ FPC ของไต้หวันมีแผนลดอัตราการกลั่นที่โรงกลั่นน้ำมัน Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ต.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 26 % อยู่ที่ 70 % เนื่องจากหยุดซ่อมบำรุงหน่วย Residual Desulfurizer (RDS - กำลังการผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ต้น ต.ค. 60 เป็นเวลา 40 วัน อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 11 ต.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.53 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.0-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล