เอกสารแนบ สรุปสาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
1. ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
1.1 เพิ่มนิยามสำหรับกรณีที่บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดย "ลูกค้า" ให้หมายความถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1.2 กำหนดเพิ่มเติมให้บริษัทจัดการสามารถลงทุนในธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน และธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมดังกล่าวของบริษัทหลักทรัพย์
สำหรับกรณีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำหนดให้การลงทุนเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538) ที่ออกตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (หลักเกณฑ์เดิม) แต่เพิ่มการห้ามลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่นายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลังหรือผู้ค้ำประกัน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า และรายงานให้ลูกค้าทราบ ทั้งนี้ การลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต้องมีมูลค่ารวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินกองทุน รวมทั้งห้ามบริษัทจัดการให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกู้ยืมเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เว้นแต่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
1.3 ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลบริษัทจัดการต้องทำความรู้จักลูกค้า (know your customer) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้า (suitability) และจัดให้มีข้อมูลของลูกค้า (customer's profile)
นอกจากนี้ บริษัทจัดการต้องทำสัญญาเป็นหนังสือกับลูกค้า โดยเพิ่มเติมสาระสำคัญเกี่ยวกับการห้ามมิให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือก่อภาระผูกพันใดๆ แก่ทรัพย์สินของลูกค้า เว้นแต่ลูกค้ายินยอมและได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
1.4 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานที่แสดงความพร้อมในการประกอบธุรกิจตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
1.5 ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของลูกค้า การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือการก่อภาระผูกพันใดๆ แก่ทรัพย์สินของลูกค้า การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน และการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์
สำหรับกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการจัดทำและส่งรายงานแสดงยอดเงินสะสมของลูกจ้าง เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบที่ลูกจ้างแต่ละคนจะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการดังกล่าวก็ได้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
1.6 เพิ่มเติมขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดข้อร้องเรียน โดยบริษัทจัดการต้องรายงานข้อร้องเรียนให้สำนักงานทราบเป็นรายไตรมาส และกรณีที่ลูกค้าร้องเรียนต่อสำนักงาน บริษัทจัดการจะต้องแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและรายงานให้สำนักงานทราบภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันที่บริษัทจัดการได้รับข้อร้องเรียนนั้นจากสำนักงาน
1.7 กรณีลูกค้าจะเลิกสัญญาการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กำหนดเพิ่มเติมให้ลูกค้าจัดทำหนังสือแจ้งบริษัทจัดการทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 30 วัน
2. ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
2.1 เพิ่มประเภทผู้ที่จะขอความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้ (ก) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต (ข) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (ค) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะตามที่สำนักงานประกาศกำหนด (ง) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเก็บรักษาหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงิน และประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
2.2 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ดังนี้ (ก) สามารถดำรงเงินกองทุนและกันสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ขอรับความเห็นชอบ และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่เสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญ ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ (ข) มีการบริหารงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาการมีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจและประวัติการกระทำผิดกฎหมาย ในระยะเวลา 3 ปีก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาการให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ จะพิจารณากรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหารที่รับผิดชอบสายงานผู้รับฝากทรัพย์สินด้วย (ค) แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ (fit & proper) เช่น ระบบการแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สิน ระบบการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของลูกค้า ระบบการตรวจสอบและตรวจนับทรัพย์สินของลูกค้า และระบบการดูแลและติดตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินของลูกค้า เป็นต้น (ง) แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านผู้รับฝากทรัพย์สิน
สำหรับผู้ขอความเห็นชอบที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมในเรื่องเกี่ยวกับ (ก) การแสดงได้ว่าจะมีเงินกองทุนหมุนเวียนที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจและมีหลักประกันหรือทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วที่เพียงพอเพื่อรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของลูกค้า (ข) กรณีมีผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่เป็นสถาบันการเงินต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ถือหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน (ค) กรรมการหรือผู้จัดการจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์
2.3 ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินต้องจัดให้มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งนี้ เมื่อผู้ได้รับความเห็นชอบจะเริ่มการประกอบธุรกิจจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อน และกรณีจะเปลี่ยนแปลงระบบงานจะต้องแจ้งสำนักงานล่วงหน้า
2.4 กำหนดระยะเวลาการให้ความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินคราวละ 3 ปี และต้องมาขอต่ออายุก่อนวันสิ้นสุดอายุอย่างน้อย 60 วัน
2.5 ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปอีกไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
3. ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลและการจัดการกองทุนส่วนบุคคลของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล
3.1 ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งกำหนดเช่นเดียวกับผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์
3.2 แก้ไขให้ผู้จัดการกองทุนสามารถยื่นขอความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวมหรือผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลหรือทั้งสองประเภทได้ ซึ่งจะสามารถจัดการกองทุนทั้งสองประเภทในเวลาเดียวกันได้
3.3 บทเฉพาะกาล :
(ก) กรณีบริษัทที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมิได้รับใบอนุญาตการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้พนักงานที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งก่อนวันที่ 30 มีนาคม 2543 สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2544
(ข) กรณีบริษัทที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้รับใบอนุญาตการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้พนักงานที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งหลังวันที่ 30 มีนาคม 2543 จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนกับสำนักงานโดยจะสามารถจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2544
4. ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดทำงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการจัดทำงบการเงินของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการที่มีธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุนที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย และในกรณีที่มาตรฐานการบัญชีไม่ได้กำหนด ให้สำนักงานประกาศกำหนดเพิ่มเติมได้
หมายเหตุ : การโอนงานกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
มาให้สำนักงานจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 มีนาคม 2543--จบ--