กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ปฏิเสธไมได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ โดยเฉพาะในภาคการศึกษาที่ต้องเป็นจุดแรกเริ่มในการบ่มเพาะและผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีทักษะและความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่อเนื่องถึงการสร้างนักวิจัย นักคิด นักประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกแห่งอนาคต อย่างไรก็ตามการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในด้านเดียวอาจยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาทักษะความคิดด้าน "ความยั่งยืน" นั่นคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนำไปใช้สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมได้จริง สอดคล้องกับแนวพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้านการคิดค้นวิทยาการประยุกต์ และนี่คือโจทย์สำคัญของของประเทศชาติที่จะต้องผลิตบุคลากรสู่ปลายทางและสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อย่างสูงสุดแท้จริง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า การศึกษาในปัจจุบันจำเป็นต้องลงทุนการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปกับการการส่งเสริมให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในยุคที่เทคโนโลยีและดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าจึงได้ตระหนักถึงการบ่มเพาะและปลูกฝังองค์ความรู้ที่เน้นเรื่อง "ความก้าวหน้า" ผ่านระบบการเรียนการสอนแบบสะตีม (STEAM) ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกามาเป็นหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนเกิดความฉลาดรู้ ความเข้าใจ และมุมมองใหม่ๆที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมตอบสนองประโยชน์สุขของสังคมอย่างยั่งยืนด้วยการผสมผสานองค์ความรู้ศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาอย่างรอบด้าน
โดยตามแนวทางการประยุกต์องค์ความรู้โรงเรียนยังได้บรรจุหลักสูตร STEM With Robotics ซึ่งเป็นหลักสูตรการสอนที่มีหุ่นยนต์เป็นสื่อกลางการเรียนวิชา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พัฒนาการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจาก"คาร์เนกี เมลลอน" มหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรมอันดับหนึ่งของโลกและเพิ่งเกิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรกของประเทศไทย ให้เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญและมีทักษะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมช่วยให้เกิดศักยภาพทางกระบวนการความคิดที่สำคัญใน 5 รูปแบบ คือ 1.การคิดอย่างสร้างสรรค์พร้อมถ่ายทอดสู่การสรรค์สร้างผลงาน 2.การคิดแก้ปัญหาในกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งแบบทีมและแบบรายบุคคล 3.การคิดตั้งคำถามภายใต้ความอยากรู้อยากเห็นเพื่อให้เกิดการทดลอง การตีความใหม่ๆ และกระบวนการวางแผนทำงานอย่างเป็นลำดับขั้น 4.การคิดค้นวิธีการที่แตกต่างหรือนอกเหนือจากทฤษฎี เพื่อให้ทราบและเกิดวิธีการดำเนินงานที่ดีที่สุด และ 5. การคิดอย่างอิสระและการจินตนาการเพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ พร้อมพัฒนาสู่สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นและใช้จริงได้ในสังคม รวมถึงยังมีการสอดแทรกและผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนที่บ่มเพาะให้เยาวชนเป็นนักนวัตกรรมที่มีแก่นแท้ของการพัฒนาสังคมที่มีความสมดุล และเกิดการนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชด้าน "ความยั่งยืน" ที่องค์การสหประชาชาติเองก็กำลังกระตุ้นให้ทั่วโลกคำนึงถึงด้านดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่โรงเรียนได้แสดงให้เห็นคือผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนในโรงเรียน ได้แก่ ผลงาน Multicore Cable Fit-Outing Robot หรือหุ่นยนต์เดินสายสาธารณูปโภคใต้ดิน และผลงาน Aquabot หรือหุ่นยนต์เพื่อการปลูกปะการังเทียม ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโครงการในพระราชดำริอันจะนำมาซึ่งความสมดุลและยั่งยืนของโลก โดยผลงานดังกล่าวยังได้เข้าร่วมแข่งขันบนเวที World Robot Olympaid Thailand 2017 (WRO) ซึ่งเด็กนักเรียนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ และยังจะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าสู่การแข่งขัน โอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับโลก (WRO 2017) ณ เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกาในลำดับถัดไป
ด้านนางสาวณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ์ หรือนาโน นักเรียนชั้นเกรด 10 โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า หัวหน้าทีมผลงานชนะเลิศการแข่งขัน WRO Thailand 2017 ประเภทความคิดสร้างสรรค์ เล่าว่า ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีจากหุ่นยนต์ถูกนำไปใช้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยเฉพาะในด้านสาธารณูปโภคมากขึ้น ทางทีมจึงได้คิดและสร้างสรรค์ผลงาน Multicore Cable Fit-Outing Robot หรือหุ่นยนต์เดินสายสาธารณูปโภคใต้ดินขึ้น ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกลที่ยังไมได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจเบื้องต้น เช่น การประปา ไฟฟ้า ถนน ฯลฯ พร้อมด้วยโครงการที่เกี่ยวข้องด้านดินที่พระองค์ทรงมุ่งให้เกิดการการใช้ดินและพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด โดยแนวคิดดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละด้านอย่างมีความเชื่อมโยงกันและมีลักษณะคล้ายการต่อภาพจิ๊กซอว์ ซึ่งหากต่อสำเร็จก็จะช่วยในเรื่องอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้รวดเร็วขึ้น
สำหรับกลไกของหุ่นยนต์ Multicore Cable Fit-Outing Robot จะเน้นให้เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ในการการทำงานหนักบนพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือเข้าถึงได้ยาก โดยหุ่นจะแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 จะเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ในการนำหน้าเพื่อสำรวจอุปสรรคของพื้นดินและใต้ดินโดยมีเซ็นเซอร์ในการตรวจจับพร้อมวิเคราะห์ออกมาในรูปของแผนที่ เพื่อให้หุ่นยนต์ชุดที่ 2 ที่เป็นหุ่นยนต์ใหญ่ทำหน้าที่ในการเดินเครื่องขุดดิน พร้อมฝังกลบสาย Multicore ซึ่งประกอบด้วย สายโทรศัพท์ สายไฟฟ้า ท่อประปา และแก๊สธรรมชาติลงบริเวณใต้ดินในเวลาเดียวกัน ในการร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนี้ขึ้น ทางทีมคาดหวังว่าหากในอนาคตหุ่นยนต์ต้นแบบนี้สามารถพัฒนาเป็นรูปธรรมได้จริง เชื่อว่าการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในชนบทจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็คิดว่าจะสามารถนำไปใช้ในด้านอื่นๆต่อได้ อีกทั้งยังจะช่วยลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากภายนอก อันจะนำมาซึ่งความสมดุลของด้านต่างๆในระยะยาว
ขณะที่ ด.ช.เทพมงคล พันธุ์กระทึก หรือโน้ต นักเรียนชั้นเกรด 7 โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า หัวหน้าผลงานรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 การแข่งขัน WRO Thailand 2017 ประเภทความคิดสร้างสรรค์ เล่าว่า แนวคิดและการประดิษฐ์ผลงาน Aquabot หรือหุ่นยนต์เพื่อการปลูกปะการังเทียมมาจากการศึกษาโครงการในพระราชดำริด้านประมงและชายฝั่งทะเลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ในปัจจุบันปัญหาจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนิโญ่ และการกระทำของมนุษย์ทำให้สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นของท้องทะเลไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงและค่อยๆตายไปจนถึงขั้นวิกฤต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ขณะนี้จะต้องสร้างบ้านใหม่ให้กับสัตว์น้ำใต้ทะเล เพื่อให้ปะการังและสิ่งมีชีวิตเริ่มฟื้นคืนกลับมาเป็นสีสัน พร้อมเพิ่มแหล่งอาหารและความสมดุลให้กับธรรมชาติ ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่มีผลต่อการกัดเซาะพังทลายของชายฝั่ง ตลอดจนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้กลับมาสวยงามมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย
ด้านการทำงานของ Aquabot นั้น จะทำหน้าที่แทนแรงงานมนุษย์ในการปล่อยปะการังเทียมเพื่อให้สามารถใช้เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำใต้ทะเล โดยที่หุ่นยนต์จะมีคุณสมบัติพิเศษในเรื่องของความรวดเร็วและประสิทธิภาพด้านความแม่นยำที่มากกว่า ทั้งยังเป็นหุ่นยนต์ที่มีความแข็งแรงทนทาน มีความสามารถในการต้านทานกระแสน้ำ มีความปลอดภัยโดยไม่ทำลายระบบนิเวศและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน WRO 2017 ที่ประเทศคอสตาริกา นอกเหนือจากทีมจะได้ฝึกซ้อมอย่างหนักทั้งในด้านการเขียนโปรแกรม การออกแบบ การประกอบหุ่น และลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุดเพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยแล้ว การไปแข่งขันในครั้งนี้ยังมุ่งหวังที่จะให้ทั่วโลกตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากปัจจุบันชายฝั่งทะเลของทั่วโลกกำลังถูกทำลาย และหวังให้เกิดการร่วมมือพัฒนาพร้อมกันอย่างเป็นวงกว้างเพราะเป็นหน้าที่ของทุกๆคน นอกจากนี้ตนและทีมยังจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเทคนิคใหม่ๆด้านหุ่นยนต์จากเพื่อนต่างชาติในประเทศชั้นนำ พร้อมนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาและบูรณาการกับการเรียนรู้ในวิชา STEM With Robotics รวมถึงวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นต่อไป ด.ช.เทพมงคล กล่าว
โลกในวันนี้หมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นมา และเชื่อว่าอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า โลกกำลังจะผลัดไปสู่ยุคที่วิถีชีวิตของทุกสรรพสิ่งต้องพึ่งพิงและผูกขาดกับเทคโนโนโลยีอัจฉริยะ นวัตกรรม และระบบดิจิทัล การเกิดขึ้นของโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้าถือเป็นมิติใหม่ของสถาบันการศึกษาไทยที่จะนำร่องเปลี่ยนกลวิธีและหลักสูตรการเรียนที่พุ่งเป้าไปสู่การผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดผู้นำด้วยการส่งเสริมรายวิชาและกิจกรรมที่จะเป็นแนวทางในการสร้างฐานแห่งการผลิตนักคิด นักประดิษฐ์นวัตกรรม ตลอดจนนักวิจัยที่มีความสามารถ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียนคนไหนที่มีความสนใจและใฝ่ฝันในการก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถร่วมกิจกรรม KMIDS OPEN HOUSE ได้วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2560 นี้ โดยติดตามความเคลื่อนไหวพร้อมทั้งข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kmids.ac.th
สำหรับผู้ปกครองและนักเรียนที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มติมได้ที่ www.kmids.ac.th ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า โทรศัพท์ 085-9174242 หรือเข้าไปที่ Facebook Fanpage : KMIDS