กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ชม พีอาร์
หากเอ่ยถึงประโยชน์ของการใช้ "จักรยาน" คำตอบทั่วๆ ไป น่าจะเป็น เรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษ เรื่องของการออกกำลังกาย ช่วยดูแลสุขภาพ เป็นต้น แต่สำหรับการใช้จักรยานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องราวในเชิงสร้างสรรค์สังคมแอบแฝงอยู่อีกด้วย นอกเหนือจากจากนำพามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปสู่เป้าหมายการเป็น "สมาร์ท ซิตี้" หรือ "สมาร์ท ยูนิเวอร์ซิตี้"
"ยรรยง อัครจินดานนท์" ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า จักรยานเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างสมาร์ทซิตี้ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะจับต้องได้ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้มาก จึงมีความพยายามทำให้กระแสการใช้จักรยานเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย มีการสร้างเลนจักรยานจำนวนมาก มีบริการเช่ารถจักรยาน และสนับสนุนให้นักศึกษาซื้อจักรยานแบบไม่คิดดอกเบี้ย แถมเรียนจบนำมาขายคืนได้ โดยพยายามทำให้จักรยานเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด และที่สำคัญการบริหารจัดการมีปัญหามากมาย ทำให้ยังไม่สามารถก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายได้ ซึ่งการพยายามนำจักรยานมาเป็นทางเลือกในการเดินทาง เพราะมีความเชื่อว่าจักรยานเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนที่เจริญแล้ว คือ เป็นการเดินทางที่สมาร์ท ได้ออกกำลังกาย จอดง่าย ไม่สร้างมลภาวะ จึงมีการคิดโมเดลคาร์ฟรีในมหาวิทยาลัย จัดโซนให้รถยนต์วิ่งได้เฉพาะพื้นที่ เพิ่มเลนสำหรับจักรยานมากขึ้นให้เหมือนในประเทศเนเธอร์แลนด์
การเริ่มต้นของวัฒนธรรมจักรยานในมหาวิทยาธรรมศาสตร์มีมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ดูแลฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา แต่ตอนนั้นตัวเลือกที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการบริหารจัดการไม่มี ติดขัดหลายเรื่อง แต่ปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์อย่างโอโฟ่ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะแบบไร้สถานี หรือ dockless bike sharing จากประเทศจีน โดยให้บริการเช่าจักรยานผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของโลกเข้ามาให้บริการ ถือเป็นตัวช่วยที่มาปลุกกระแสให้ก้าวหน้าได้เร็วมาก สะท้อนจากอัตราการใช้จักรยานของนักศึกษามีสูงขึ้น
"จักรยานเป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง หากเราทำได้จะเป็นต้นแบบของเอเชียธรรมศาสตร์เริ่มวัฒนธรรมจักรยานมา 3-4 ปี เดิมเปิดให้เช่า แต่พบว่าค่าซ่อมอย่างเดียวกับไม่ไหวแล้ว เรื่องระบบจัดการก็ไม่ง่าย แต่จากระบบของโอโฟ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เป็นบริษัทระดับเวิลด์คลาสด้วย จะทำให้ไม่เกิน 4 ปีจะเห็นผลที่ดีตามเป้าหมาย เรามองไปถึงการจัดระบบฟรีคาร์ มีการจัดโซนการใช้รถยนต์ทำให้กลายเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยในเมืองไทย"
นอกเหนือจากการเดินสู่เป้าหมายสมาร์ท ซิตี้ ได้ง่ายขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการนำจักรยานเข้ามาใช้คือ เรื่องของการปลูกจิตสำนึกเรื่องของการแบ่งปัน การมีจิตสาธารณะ รวมถึงการมีระเบียบวินัย ยอมรับในกฎกติกา เช่น ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยทำเลนจักรยานไว้ ขณะที่คนใช้จักรยานน้อยก็ถูกยึดไปเป็นของมอเตอร์ไซค์และคนเดิน ตอนนี้มีจักรยานมาปั่นมากขึ้นเข้าไปยึดครองพื้นที่กลับมาแล้ว ช่วงแรกก็มีคนต่อต้านเหมือนกันว่าไปแย่งทางเดิน แต่เมื่อเป็นเลนจักรยานจึงถือเป็นความชอบธรรมของผู้ปั่นมากกว่า กลายเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดพลังขึ้นมาได้
"ตอนนี้เราพยายามสร้างเรื่องวัฒนธรรมเข้าไปด้วย ซึ่งผมคิดว่าคงเจอกันทั้งโลก บางคนใช้แล้วจอดทิ้งขว้าง ซึ่งเราพยายามโปรโมทการใช้จักรยานว่า ไบค์กี้ anywhere, anytime, anyone ใครอยากใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ กลายเป็นตีความสนุกๆ ไปว่าจะเอาไปไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ใครนำออกไปข้างนอก จอดผิดที่เกะกะ ก็เจอถ่ายรูปประจานฟ้องว่าไม่มีอารยธรรม เป็นการควบคุมในสังคมไปอีกแบบ ทำให้สังคมเข้าใจว่าการแบ่งปันกับสาธารณะเป็นอย่างไร เราจะพยายามสร้างคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยกันดูแล"
อาจารย์ยรรยง บอกว่า ตอนนี้ผู้ดูแลฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาทำหนังสือออกมาเลยว่าใครเอาจักรยานไปนอกมหาวิทยาลัยถือเป็นการทำผิด และในคลาสเรียนของนักศึกษาปีหนึ่งก็จะมีหนึ่งชั่วโมงเรียนที่สอนเรื่องการใช้จักรยานแบบแบ่งปัน เรื่องการแบ่งปันในสังคม หรือ แชร์ริ่งโซไซตี้ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องพยายามสร้างให้สังคมแห่งการแบ่งปัน ทำให้นักศึกษาเข้าใจว่าต้องแบ่งปันอย่างไร บอกให้รู้ว่าการแบ่งปันแบบไหนถูกต้อง อันนี้คือ เรื่องวัฒนธรรม
ดังนั้น การสนับสนุนให้โอโฟ่เข้ามาในมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นเรื่องเชิงบวกชัดเจน โดยมีคนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น สร้างการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาว่าต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น อาจพูดได้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องการใช้จักรยาน แต่เป็นการปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบทรัพย์สินส่วนรวมด้วย เพื่อสร้างคนออกไปดูแลสังคมในอนาคต ซึ่งในยุโรปมีเรื่องไบค์แชร์ริ่งมานานแล้ว ในบ้านเราก็อยากทำ แต่เมื่อคิดถึงปัญหาเยอะแยะก็ไม่เกิด ตอนนี้มีแรงสนับสนุนเกิดขึ้นทำให้เดินหน้าได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็มีแผนขยายเส้นทางจักรยานเพิ่มเติมเพื่อรองรับ
ขณะที่มุมมองของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง "กุลจิรา ตันเจริญรัตน์" หรือ น้องมายด์ บอกว่า ก่อนหน้านี้เวลาเดินทางในมหาวิทยาลัยไม่เคยพึ่งพาจักรยาน เมื่อโอโฟ่เอาจักรยานมาให้บริการในครั้งแรกรู้สึกว่าจักรยานสีเหลืองเต็มไปหมด เรียกว่าเป็นกระแสที่พูดถึงกันมากในมหาวิทยาลัย และเริ่มเห็นหลายคนหันไปปั่นจักรยานกัน เพื่อนๆ ก็ปั่นกัน จึงอยากทดลองบ้าง ซึ่งพบว่าสะดวกดี เพราะเวลาเปลี่ยนตึกเรียน บางครั้งรอรถของมหาวิทยาลัยนาน แต่เมื่อมีจักรยานโอโฟ่จอดอยู่สามารถปลดล็อคใช้ได้เลย
"ใช้แล้วรู้สึกสะดวกมาก แต่ให้ความรู้สึกต่างกับการปั่นชมวิวในสวนรถไฟ เพราะเป็นเรื่องการเดินทางไปเรียน ปั่นไปคุยกับเพื่อนไปสนุกดี การใช้เลนจักรยาน ทำให้เราเรื่องกติกาในการใช้ว่าต้องมีระเบียบ เนื่องจากมีคนใช้เยอะ"
ด้าน "ธรรมกฤตร สินธพประเสริฐ" หรือ น้องนิว ยอมรับว่า ช่วงแรกไม่ใช้บริการ เพราะไม่เข้าใจระบบคิดว่าต้องยุ่งยาก ต้องผ่านระบบหลายขั้นตอนไม่สะดวกในการใช้ จึงไม่ค่อยสนใจ แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆ ใช้กันเยอะขึ้น รู้สึกว่าทำไมใช้บริการกันเยอะมาก คงไม่ยากอย่างที่คิด เลยอยากลองใช้ดู และมหาวิทยาลัยก็มีเลนจักรยานรองรับอยู่แล้ว เอื้ออำนวยต่อการปั่นจักรยานจึงน่าจะมีความสะดวกปลอดภัย ประกอบกับรถรับส่งของมหาวิทยาลัยกำหนดเวลาไม่ได้ หรือมาถึงก็มีคนนั่งมาเต็มแล้ว ต้องรอคันใหม่ หากจะอาศัยการเดินจากตึกข้ามไปอีกตึกอาจต้องใช้เวลานาน ยิ่งถ้าอากาศร้อนก็ยิ่งแย่ แต่เมื่อมีจักรยานให้บริการในจุดต่างๆ ช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น สามารถปั่นไปจอดในบริเวณใกล้ๆ ได้เลย
"หากคนใช้จักรยานกันเยอะ มองว่าเราจะสามารถเป็นต้นแบบของสังคมที่ใช้จักรยานได้เลย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่ในการจอดน้อยลง เวลาขับรถไปคนละคันหาพื้นที่จอดแทบไม่มีต้องแย่งกัน แต่จักรยานใช้พื้นที่น้อยกว่า จริงๆ มหาวิทยาลัยมีจักรยานให้เช่ามาก่อน แต่ข้อเสียคือ ยืมที่ไหนต้องคืนที่นั่น ส่วนของโอโฟ่สามารถจอดปลายทางได้เลย คนอื่นมาใช้บริการต่อได้เลย มีความสะดวกกว่า มีพนักงานดูแลอย่างมีระบบ"
ส่วน "ทัศพร พัฒนคงศัย" หรือน้องฟัง มองว่า บริการของโอโฟสะดวกดี ไม่ต้องซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง เวลาอยากใช้แค่จ่ายค่าบริการตามเวลาที่ใช้ไปเท่านั้น ซึ่งอาคารเรียนในมหาวิทยาลัยแต่ละตึกห่างกันพอสมควร หากต้องเดินก็ไกล แต่รอรถมหาวิทยาลัยบางครั้งนานอาจไม่ทันเข้าเรียน เมื่อมีจักรยานให้เช่ามาเป็นทางเลือกถือว่าน่าสนใจ ยิ่งหากค่าบริการไม่แพงเกินไปก็คงใช้บริการต่อเนื่องหลังจากหมดช่วงของโปรโมชั่นแล้ว
"นอกจากความสะดวกสบายแล้ว การปั่นจักรยานยังมีส่วนช่วยสอนเรื่องระเบียบวินัยด้วย ตอนนี้คนปั่นเยอะต้องรู้ระเบียบ หรือคนเดินเองก็ต้องหลบเมื่อไปเดินบนเลนจักรยาน เมื่อก่อนคนเดินสบาย แต่ตอนนี้เป็นเลนจักรยานจริงๆ แล้ว หรือมีบางคนเอาจักรยานออกไปนอกเขต ก็ต้องตักเตือนกัน"
"นพพล ตู้จินดา" ผู้จัดการทั่วไป โอโฟ่ ประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดในการทำธุรกิจว่า โอโฟ่เป็นธุรกิจที่ดีและไม่มีในเมืองไทย ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้รถยนต์น้อยลงใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า บางประเทศก็มีการใช้จักรยานกันเยอะมาก เมื่อไปรู้จักโอโฟ่ที่เมืองจีนรู้สึกว่าดีเหมาะจะนำมาพัฒนาเมืองไทยอีกหนึ่งทางเลือก แต่ความเชื่อของหลายคนก็มองว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ อากาศไม่เอื้ออำนวยกับการปั่นจักรยาน
"ผมเชื่อว่ามันดี และตอนนี้พบว่าผลตอบรับดีเกินคาด มันเป็นสิ่งที่จริงๆแล้วคนอยากได้ แต่ไม่มีใครเอามาให้ ไม่มีสิ่งเอื้ออำนวยให้คนเข้าสู่ระบบนี้ เหมือนเรามองว่าเมื่อหลายปีก่อน คนไม่ใช้สมาร์ทโฟน แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนใช้สมาร์ทโฟนกันหมด ผมเลยมีความเชื่อว่าสิ่งที่คนไม่เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นอีก 5-6 ปีข้างหน้า อาจเป็นกระแสจักรยานก็ได้ นี่เป็นแนวคิดที่ตั้งสมมติฐานไว้ จากนั้นจะเดินหน้าไป จากที่ทดลองตลาดมามีกำลังใจขึ้นเยอะว่ามาถูกทางแล้ว จริงๆ ในจีนมีบางเมืองที่มีภูมิอากาศคล้ายกับไทย มีคนปั่นจักรยานกันเยอะแยะ"
ปัจจัยที่ทำให้โอโฟ่จากประเทศจีน ให้ความสำคัญกับเมืองไทยคือ ตอนที่ทำการศึกษาตลาดได้เห็นโอกาสหลายๆ อย่าง เช่น จำนวนประชากร ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งการเข้าสู่ประเทศไทยเป้าหมายการทำตลาดเบื้องต้นคือ มหาวิทยาลัย หัวเมืองท่องเที่ยว สมาร์ทซิตี้ต่างๆ ด้วยความที่แบรนด์โอโฟ่มีภาพลักษณ์เป็นสตาร์ทอัพ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีเรื่องความสมาร์ทเข้ามาเกี่ยวข้อง เหล่านี้จะทำให้คนใช้มีความภาคภูมิใจด้วย อย่างคนรุ่นใหม่เด็กมหาวิทยาลัยก็รู้สึกถึงความเท่ หรือภูเก็ตก็เป็นจังหวัดต้นแบบของความสมาร์ท มีจักรยานแบรนด์ระดับโลกมาช่วยโปรโมท
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจมีแนวทางชัดเจนว่าต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะไม่ไปทำธุรกิจในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน หมายความว่าโอโฟ่จะไปเมืองไหนแล้วถ้าไม่มีใครสนับสนุนก็ไม่ฝืน จึงอยากให้เริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้ได้เข้าทดลองก่อน เพื่อจะได้เห็นว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเห็นว่านักศึกษามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หากในอนาคตมีการกำหนดโซนให้รถวิ่งแค่ด้านนอก มีภาพการปั่นจักรยานจำนวนถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยลดมลพิษ ลดอุบัติเหตุ ลดความแออัดของระบบการจราจร
ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง ไม่ใช่แค่การเอาจักรยานมาวางให้บริการ แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องการบริหารจัดการ ต้องมีทีมทำทั้งเรื่องบริหารจุดจอดให้ตรงกับความต้องการ จำนวนรถให้เพียงพอ ต้องทำเรื่องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องการใช้งาน และที่สำคัญมากอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการสนับสนุนจากเจ้าของพื้นที่ ต้องอนุญาตให้จอดในจุดที่มีคนใช้จริงๆ เพราะถ้าไม่ให้จอดสุดท้ายก็ไม่มีการใช้ จะไม่มีประโยชน์ รวมทั้งมีพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่โอโฟ่สามารถเข้าไปดูแลได้ เพื่อความเป็นระเบียบ
"บางคนอาจคิดว่าเมื่อแค่เอาจักรยานมาลงก็จบ ขอดูแลกันเอง แต่เราขอดูแลให้ เพราะในช่วงเริ่มต้นการให้บริการต้องมาควบคู่กับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรามีระบบเทคโนโลยีรองรับที่จะมีการเก็บสถิติการใช้งานทั้งช่วงเวลา และเส้นทางการขับขี่ ซึ่งดาต้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์การทำงานเพื่อเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่เราไป"
ในแง่พฤติกรรมผู้บริโภค คงต้องให้เวลาในการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นสินค้าและบริหารใหม่มาก ซึ่งการสื่อสารที่ดีที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ทดลองใช้ ยิ่งคนทดลองมากเท่าไรจะยิ่งเรียนรู้วิธีการใช้ได้ง่ายขึ้น และให้เรียนรู้เรื่องจักรยานสาธารณะ เรื่องระเบียบวินัย มีการสร้างจิตสำนึกในเรื่องเหล่านี้ โดยในมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในเมืองต่างๆ คงต้องค่อยๆ ให้เรียนรู้กันไป แต่ที่เจอปัญหาก็เป็นส่วนน้อยมาก
สำหรับการสร้างรายได้เชิงธุรกิจจากบริการนั้น คิดว่าช่วง 2-3 ปีแรกคงเป็นช่วงของการลงทุน ไม่ได้มองเป้าหมายว่าต้องมีกำไรภายในกี่เดือนกี่ปี เพราะเป็นบริการใหม่ ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค กระตุ้นให้มีความรู้สึกอยากใช้บริการก่อน ซึ่งตอนนี้มีการตอบรับที่ดีทั้งจากภาคประชาชน และภาคธุรกิจ เช่น ในภูเก็ตสามารถช่วยในเรื่องการต่อยอดให้กับธุรกิจท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร โรงแรม ร้านกาแฟ อยากให้โอโฟนำจักรยานไปจอดบริการที่หน้าร้าน อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า แถมยังสร้างทราฟฟิกให้ร้านด้วย ปัจจุบันมีจักรยานให้บริการในภูเก็ต 1,000 คัน แต่มียอดผู้ใช้บริการสูงถึง 10,000 ครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนจักรยาน
"เราจะทำให้เห็นว่าเราไม่ได้มาเป็นคู่แข่งใคร เพราะบางคนมองว่าจะมาแข่งกับวินมอเตอร์โซค์ หรือตุ๊กตุ๊กหรือไม่ ต้องบอกไม่ใช่แต่จะมาช่วยให้ทุกคนดีขึ้น จะมาเป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้สังคมไทยดีขึ้น สะดวกขึ้น ตอนนี้เราเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวเลขอัตราการใช้ในธรรมศาสตร์สูงมาก เรียกว่าสูงกว่าตอนที่เราไปเปิดตัวในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในหลายๆ ที ซึ่งแน่นอนนี่คือสัญญาณสำคัญที่จะทำให้คนที่เคยคิดว่าสังคมจักรยานเป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย ได้ลองคิดใหม่" นพพล กล่าว