กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) กันยายน 2560จำนวน 1,044 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 29.5, 36.4 และ 34.1 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 48.1, 14.6, 12.5, 12.3 และ 12.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.6 และ 20.4 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.0 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสะท้อนมุมมองในเชิงบวกของผู้ประกอบการที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมเห็นได้จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่การบริโภคภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีสะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือนสอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในด้านกำลังซื้อของภาคเกษตรและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกันยายน จากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ขนาด จากเดือนสิงหาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 70.6ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 68.8 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์,หัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ93.2 ในเดือนสิงหาคมโดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 89.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.5 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษเป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.1ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.7 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 98.5ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.0 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี,อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน,อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตเลียม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.8 ในเดือนสิงหาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้นได้แก่ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกันยายน จากการสำรวจพบว่าดัชนีความภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 89.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.3 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม(ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมชนิดม้วนและแผ่น มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ สินค้าประเภทกระป๋อง ขวด อลูมิเนียมมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม) อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาส 4 และยังมีการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นบรรจุภัณฑ์ (Packaging) มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารและเคมีภัณฑ์) อุตสาหกรรมยานยนต์(รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ บิ๊กไบต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อรถยนต์จากตลาดยุโรปและเอเชียใต้เพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์(คอนกรีตสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ผสม มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง ด้านการส่งออกไปยังตลาด CLMV ลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.2 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 75.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 73.1 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอ(สินค้าประเภทเส้นด้าย เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกเส้นใยสิ่งทอสำหรับผลิตเสื้อผ้ากีฬา ผ้าผืน และถุงเท้า ไปประเทศญี่ปุ่น เวียดนามและจีนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์(เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในการปรับปรุงโรงแรมแรมและรีสอร์ท เพื่อรองรับเทศกาลท่องเที่ยว การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้และชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์ มียอดสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ(ผลิตภัณฑ์กระดาษชำระ กระดาษอนามัย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์สา กระดาษคราฟท์ ส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการมีสต็อคสินค้าในปริมาณสูงด้านการส่งออกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารมีคำสั่งซื้อลดลงจากจีน และสหรัฐฯ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.8 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 80.3ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 77.8 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล(น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากอินเดีย ไต้หวัน และกัมพูชา) อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม(สินค้าประเภทสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง อาทิ งาน Mobile Expo 2017 การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น แผงวงจรไฟฟ้ามีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อยืด เสื้อผ้าเด็กอ่อน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย การส่งออกสินค้าประเภทเสื้อกันหนาว เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน(ผลิตภัณฑ์อิฐมอญ อิฐมวลเบา และอิฐโปร่ง ที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ลดลงเพราะเป็นช่วงฤดูฝน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.7 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 97.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.4 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความต้องการใช้เพื่อซ่อมแซมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในช่วงฤดูฝน การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทอะไหล่และล้อยาง รวมถึงเครื่องเสียงรถยนต์ มีคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ(เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ(เครื่องประดับประเภทอัญมณี เพชร พลอย มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกงและสวิสเซอร์แลนด์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากการจัดงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 2017โดยมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย อาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ตุรกี ไต้หวัน) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากช่วงฤดูฝนสภาพอากาศเย็นลงทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศลดลงการส่งออกเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และจีน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.9 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 85.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.7 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง(ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทำความสะอาด และถุงมือยางทางการแพทย์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกล้อยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นและมาเลเซียเพิ่มขึ้น ยางแผ่นรมควันมีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้(ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์รวมถึงการสร้างบ้านและการตกแต่งบ้าน) อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ(เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์มีคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม(น้ำมันปาล์มมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อยลง เนื่องจากฝนตกชุก) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ107.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.6 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ทั้ง 2 กลุ่ม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 83.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.8 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่อุตสาหกรรมหล่อโลหะ,อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.3 ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า เดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 98.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.9 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯเพิ่มขึ้นได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ,อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 108.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.9ในเดือนสิงหาคมองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2560 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกันยายน คือ ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการSMEs นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และ ส่งเสริมผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศCLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต