กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สถาบันการบินพลเรือน
วันที่ 9-11 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พร้อมคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ บริษัท Airbus – Mechanical Training , ศูนย์ฝึกอบรมนายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน AEROCAMPUS Aquitaine และ โรงงานประกอบอากาศยานขั้นสุดท้าย (Final Assembly Line; FAL) ประเทศฝรั่งเศส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งพิจารณาแนวทางความร่วมมือและแผนการดำเนินการร่วมกัน ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางด้านการบินและอวกาศ อู่ตะเภา ภายใต้มาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA)
ในการนี้ Mr. Olivier MALAVALLON, Business Development Director และ Mr. Christian Delmas, Head of Maintenance Training & Customer Services – STLM พร้อมคณะผู้บริหารของบริษัท Airbus รวมทั้งผู้บริหารและคณาจารย์ของ AEROCAMPUS Aquitaine ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารของ สบพ. พร้อมพาเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคสำหรับสายการผลิตอากาศยาน (Lycee Airbus), ศูนย์ฝึกอบรมนายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน AEROCAMPUS Aquitaine และโรงงานประกอบอากาศยานขั้นสุดท้าย (Final Assembly Line; FAL) ของอากาศยานแบบ ATR๗๒, Airbus A๓๒๐, A๓๓๐, A๓๕๐ และ A๓๘๐ รวมทั้งเข้าร่วมชมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของบริษัท Airbus (New Maintenance Training Technologies) เพื่อใช้ในการฝึกอบรมฐานสมรรถนะสำหรับนายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน (Airbus Competence Training; ACT) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายในระยะเวลาสั้น ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ พลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการ สบพ. พร้อมคณะยังเดินทางไปประชุมเพื่อดำเนินโครงการตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สบพ. และ มหาวิทยาลัย Ecole Nationale de l'Aviation Civile (ENAC) เพื่อกำหนดและสรุปกิจกรรมในประเด็นที่สำคัญตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ณ สบพ. กรุงเทพฯ โดยผลการประชุมกำหนดให้ สบพ. พัฒนาบุคลากรโดยการเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ENAC จัดการฝึกอบรมให้กับหน่วยงานด้านการบินต่าง ๆ โดยใช้ทรัพยากรจาก ENAC รวมทั้งส่งอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ENAC เข้าร่วมสอนในหลักสูตรฝึกอบรมของ สบพ. ด้านระบบเครื่องช่วยการเดินอากาศ การสื่อสาร และการติดตามอากาศยาน พร้อมทั้งให้ความร่วมมือสำหรับการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเฉพาะทางเพื่ออุตสาหกรรมด้านการบิน ในสาขาการจราจรทางอากาศ และสาขาวิศวกรรมการนำร่องอากาศยานด้วยระบบดาวเทียม (GNSS)
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ENAC ได้แก่ อาคาร ATC Simulators ห้องปฏิบัติการอุโมงค์ลม (Wind Tunnel) ห้องปฏิบัติการเพื่องานวิจัยด้าน Human Machine Interface (HMI) และ Muret Flight Training school ซึ่งเป็นหนึ่งในเก้า ศูนย์ฝึกบินของมหาวิทยาลัย ENAC อีกด้วย