กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันนี้ (18 ต.ค.60) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา โดยขึ้น ฮ.บินสำรวจสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา - อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จากนั้นได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่คันกั้นน้ำ ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เพื่อมอบถุงยังชีพให้ประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลของจ.ชัยนาท ได้แก่ ต.ตลุก, ต.หาดอาษา และ ต.โพนางดำก่อนพบปะให้กำลังใจประชาชน และชี้แจงแนวทางภาครัฐในการลดผลกระทบกับเกษตรกร และประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนสูง ซึ่งมีสถานการณ์ทั้งน้ำท่วม และ น้ำแล้ง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบกับเกษตรกร และ ประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด โดยในปี 2559 ได้วางแผนเตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2560 ตามลำดับขั้น ตั้งแต่เตรียมพื้นที่รับน้ำหลากและเส้นทางน้ำ โดยมีการปรับปรุงแก้มลิง หนอง และ คูคลอง ให้สามารถรับน้ำหลากได้ ปรับเปลี่ยนระยะเวลาการเพาะปลูก ให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทัน ใช้เป็นทุ่งรับน้ำหลากได้ บริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้มีพื้นที่เพียงพอสามารถรองรับน้ำหลากได้ กำจัดผักตบชวา และ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้น้ำระบายได้เต็มประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องมือลงในพื้นที่ โดยบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ ได้แก่ พร่องน้ำในลำน้ำต่างๆ งดระบายน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อย เร่งการระบายน้ำในเขื่อนที่มีน้ำมาก ผันน้ำจากจุดวิกฤตไปยังลำน้ำ/พื้นที่ที่มีน้ำน้อย ผันน้ำเข้าแก้มลิง หนอง และ คูคลอง ที่เตรียมไว้ ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำหลากที่เตรียมไว้ ช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ทุ่งรับน้ำ และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับสถานการณ์น้ำในปี 2560 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 30 ทำให้มีน้ำในเขื่อน และ ลำน้ำ มากกว่าปกติ แต่สถานการณ์ความรุนแรงน้อยกว่าปี 2554 มาก ทั้งนี้ได้บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ ในส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้งดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล/เขื่อนสิริกิติ์ ผันน้ำออกฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ผันน้ำเข้าแก้มลิงที่เตรียมไว้ และผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำหลาก แบ่งเป็น พื้นที่เหนือ จ.นครสวรรค์ - อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ 265,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จปลายเดือน ส.ค. 60 รับน้ำได้ 400 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำแล้ว 450 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ใต้ จ.นครสวรรค์ 12 ทุ่ง พื้นที่ 1,149,898 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จกลางเดือน ก.ย. 60 รับน้ำได้ 1,514 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำแล้ว 1,183 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำเมื่อเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบาย ตั้งแต่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด/ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี, อ.พรหมบุรี, อ.เมือง จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ต.โพนางดำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ต.เทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และ บ้านท่าทราย อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้เร่งช่วยเหลือ และเร่งผลักดันน้ำหากไม่มีฝนมาเพิ่ม โดยได้สั่งการให้ลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงภายใน 7 วันหากไม่มีฝนตกเพิ่ม และจะสามารถลดปริมาณน้ำให้อยู่ในระดับปกติภายในระยะเวลา 1 เดือนตามลำดับ แบ่งเป็น ในอีก 10 วัน เขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำลงไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที15 วัน เขื่อนเจ้าพระยา ปรับลดการระบายน้ำลงไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที 20 วัน เขื่อนเจ้าพระยา ปรับลดการระบายน้ำลงไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที และ 30 วัน เขื่อนเจ้าพระยา ปรับลดการระบายน้ำลงไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที ในระหว่างนี้ ส่วนที่เกี่ยวต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนและลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด
"กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าตั้งแต่ปี 59 โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่แก้มลิงไว้รองรับน้ำทั้งบริเวณเหนือเขื่อนจ้าพระยา และใต้เขื่อนเจ้าพระยาทั้งที่บางระกำ และทุ่งแก้มลิงใต้เขื่อนเจ้าพระยา 12 แห่งสามารถรองรับมวลน้ำจากลำน้ำปิง วัง และน่าน ไม่ให้ลงมาส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่างโดยเฉพาะที่บางไทร ซึ่งปัจจุบัน 12 ทุ่งแก้มลิงที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยารับน้ำแล้ว 80% ยังสามารถรับน้ำได้อีก 20% ที่สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มเติม โดยจะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันอังคารหน้า (24 ต.ค 60.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทานสามเสน ทั้งการพยากรณ์อากาศในช่วงระยะ 10 วันจากนี้ไม่น่าจะมีพายุเข้ามา เป็นเพียงร่องความกดอากาศเท่านั้น และแผนการใช้ทุ่งแก้มลิงในลุ่มน้ำยมที่เตรียมไว้ 16 แห่ง ที่ขณะนี้ยังมีการเพาะปลูกไม่ได้เก็บเกี่ยวกรณีหากมีปริมาณฝนเพิ่มเติมก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าด้วยเช่นกัน รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำในปี 61 ล่วงหน้าด้วย" พลเอกฉัตรชัย กล่าว
สำหรับการรายงานสถานการณ์พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายนั้น ทางจิสด้าได้รายงานว่าจากพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเพียง 3% จากพื้นที่การเกษตรทั้งหมด และไม่ใช่เสียหายสิ้นเชิงหากระดับน้ำท่วมขังไม่นานก็ไม่น่าจะมีความเสียหายมากนัก แต่ก็ได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่ตามแนวลุ่มเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบวิเคราะห์และคาดการณ์ความเสียหายเบื้องต้นเพื่อวางแผนทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้ทันสถานการณ์ต่อไป