กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.44) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 6) พ.ศ.2544 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของพ.อ.พิบูลศักดิ์ นาคีรักษ์ ส.ก.เขตจตุจักร เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหารถโดยสาร เท ทิ้งสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะ โดย พ.อ.พิบูลย์ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากปัญหารถโดยสารที่เข้าจอดรับ-ส่งผู้โดยสารบริเวณสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิตใหม่) เท ทิ้งสิ่งปฏิกูลบริเวณที่ว่าง เช่น หลังอาคารฐานเศรษฐกิจ และที่ว่างในซอยเปลี่ยว ซึ่งเป็นการกระทำผิดสุขลักษณะก่อให้เกิดมลภาวะ เพราะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.จะประสานกับกรมการขนส่งทางบกในการจัดระเบียบที่จอดรถโดยสารให้เป็นที่และมีการวางมาตรการจัดที่ทิ้งขยะให้เหมาะสม โดยกทม.จะอำนวยความสะดวกเรื่องรถดูดสิ่งปฏิกูล รวมทั้งจะมีการประชุมหารือระหว่างกรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการรถโดยสาร เจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อควบคุมสถานที่จอดรถโดยสารให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ส่วนการจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในเรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูล คงจะต้องขอศึกษาความเป็นไปได้ก่อน เพราะกทม.กำลังดำเนินการในเรื่องการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลให้สามารถนำกลับมาแปรรูปเป็นปุ๋ยที่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาญัตติของนายสุทิน ชูสงวน ส.ก.เขตคลองสามวา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มมาตรการเข้มงวด ควบคุมการใช้และการดูแลรักษายานพาหนะของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยนายสุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ายานพาหนะของกรุงเทพมหานครมีปัญหาการชำรุดและสูญหาย แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบและลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำผิดก็ไม่คุ้มกับความเสียหายต่อกรุงเทพมหานคร เพราะนอกจากต้องเสียงบประมาณในการซ่อมบำรุงและการจัดซื้อยานพาหนะใหม่แล้ว ยังต้องเสียประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้งานยานพาหนะ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาและเพื่อเป็นการรักษาทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จึงขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการใช้และการดูแลรักษายานพาหนะ โดยควบคุมเวลาการออกปฏิบัติงานราชการ การดูแลรักษายานพาหนะให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานเสมอ รวมทั้งควบคุมการเก็บรักษายานพาหนะไว้ในสถานที่ราชการเท่านั้น นอกจากนี้ทางกทม.ควรจะมีการพิจารณาจ้างเอกชนให้มาดำเนินการแทนในเรื่องยานพาหนะ เพราะเป็นประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษายานพาหนะด้วย
นายสมัคร กล่าวว่า ฝ่ายบริหารกำลังพิจารณาเรื่องที่จะจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยจะมีการเปรียบเทียบความเป็นไปได้ระหว่าง กทม.ดำเนินการโดยใช้ยานพาหนะของกทม.เองกับจ้างเอกชนว่าสิ่งใดคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณกว่ากัน สำหรับเรื่องการใช้รถของกทม.นอกเวลาราชการก็จะได้มีการกวดขันและเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดต่อไป
อนึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 2 ญัตติดังกล่าว และจะนำเสนอฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-