กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ร่วมการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก ครั้งที่ 44 ณ กรุงโรม หารือการบริหารจัดการ ป่าไม้ ความมั่นคงอาหารและโภชนาการ โชว์ ไทยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จาก 31% เป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 15 เน้นส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS (Committee on Food Security) ครั้งที่ 44 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 9–13 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ (นายวินิต อธิสุข) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงการขยายตัวของความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงของชนบท และผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ นอกจากนี้ ยังร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการของ CFS สำหรับปี 2561–2562 และการมีส่วนร่วมของ CFS ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
ในการนี้ สศก. ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการป่าไม้ โดยได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องและฟื้นฟูป่า ปราบปรามและป้องกันการบุกรุกป่า บริหารจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน มีการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ จากร้อยละ 31 เป็น ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 15 เน้นส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชน โดยดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่า พร้อมทั้งยกตัวอย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ ที่รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกป่าด้วยระบบป่าเปียก และการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก
สำหรับนโยบายเรื่องการขยายตัวของความเป็นเมือง การเปลี่ยนแปลงของชนบท และผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ไทยได้ดำเนินนโยบายพัฒนาแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงหลายภาคส่วน โดยได้บรรจุยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งรวมถึงการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนในบริบทเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร มุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map) โดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตร มีการดำเนินโครงการความร่วมมือประชารัฐ พัฒนาความร่วมมือด้านดินในระดับนานาชาติ ได้แก่ ความร่วมมือด้านดินระดับภูมิภาคเอเชีย เพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมการบริหารจัดการดินในภูมิภาคอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี และดำเนินโครงการนมโรงเรียน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการลดปัญหาการขาดสารอาหารในเด็ก
ทั้งนี้ การประชุม CFS นับเป็นเวทีการประชุมของ FAO ซึ่งมีการประชุมเป็นประจำทุกปีที่กรุงโรม เพื่อติดตามนโยบายความมั่นคงอาหาร แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศสมาชิก ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคได้ต่อไป