กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการ "5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง" ร่วมกับส่วนราชการในสังกัด สถาบันการศึกษา ปราชญ์เกษตร และภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงการ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการดำเนินงานโครงการ"5 ประสานสืบสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง" ปี 2560 และเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่องในปี 2561 โดยผลการดำเนินงานปี 2560 พบว่า มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 70,002 ราย ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว เกษตรกรได้นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ทำการเกษตรผสมผสาน ตามศักยภาพของตนเองในพื้นที่ เกิดการพึ่งพาตนเอง สามารถลดรายจ่ายจากการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 533 บาท มีการลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมี โดยใช้ปัจจัยการผลิตและใช้แรงงานของตนเองได้เฉลี่ยเดือนละ 556 บาท เกษตรกรมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในเมือง ลดลงร้อยละ 1.47 มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามหลัก เศรษฐกิจพอเพียง และจัดทำบัญชีครัวเรือน มีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ครัวเรือนร้อยละ 18.38 สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ อีกทั้งยังมีการวางแผนและดำเนินการผลิตในแปลงที่เข้าร่วมโครงการ สร้างรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 4,613 บาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในปี 2561 โดยกำหนดรับสมัครเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 70,000 ราย รวมเป็น 140,000 ราย เพื่อถวายรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และร่วมกันทุกภาคส่วนในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เกิดความมั่นคง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างเพียงพอและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
"กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันโครงการนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของภาคเกษตรที่สำคัญ คือ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และการบริการจัดการผลิต ทั้งการพัฒนาเรื่องดินและน้ำ ขาดแคลนทุนและโครงสร้างพื้นฐาน มีหนี้สินจากการผลิตเชิงเดี่ยว และมีความเสี่ยงเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ ที่จะเป็นรากฐานสำคัญตามนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร ให้เกษตรกรมีรายได้และความภาคภูมิใจในอาชีพ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ ในเขตพื้นที่เหมาะสม ซึ่งนอกเหนือจากการผลิตสินค้าหลักแล้ว ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรมีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอในครัวเรือน และนำรายได้จากการผลิตสินค้าหลักมาเป็นเงินออม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต และสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร" พลเอกฉัตรชัย กล่าว