กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--มทร.ธัญบุรี
คณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี นำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ สร้างพื้นที่เกษตรพอเพียงแบบจำลองตัวอย่าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติให้กับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติด สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (โรงพยาบาลธัญญารักษ์) จ.ปทุมธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.รุ้งสวรรค์ วรรณสุทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี และ ร.พ.ธัญญารักษ์ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่โรงพยาบาลในส่วนของพื้นที่เดิม จัดภูมิทัศน์ใหม่ด้วยแนวทางเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้นำนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ เข้าฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาลและผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัด อันจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปได้
"เกษตรพอเพียงต้นแบบที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ช่วยให้ชีวิตของเขามีชีวิตชีวา รู้จักการวางแผน ลงมือปฏิบัติ เฝ้าดูแลผลผลิตที่เกิดขึ้นร่วมกัน ขณะเดียวกันนักศึกษาที่ลงพื้นที่จะได้ลงมือปฏิบัติจริงจากที่เรียนมา ได้เห็นตัวอย่างต่าง ๆ ก็จะทำให้เข้าใจ ยอมรับและเลือกทางเดินชีวิตได้อย่างถูกต้องต่อไป" คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าว
ด้าน นายพิศาล ตันสิน อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร อธิบายถึงการบริการวิชาการในครั้งนี้ว่าเป็นการความร่วมมือกันของ 2 หน่วยงาน ซึ่งทางคณะฯ ได้เข้าไปฝึกอบรมการประมง การขยายพันธุ์พืช การทำการเกษตรให้กับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัด และอีกส่วนหนึ่งได้ออกแบบปรับปรุงพื้นที่ของ ร.พ.ธัญญารักษ์ ประมาณเกือบหนึ่งไร่ โดยใช้แนวทางเกษตรผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้มีกิจกรรมการผลิตหรือเพาะปลูกที่หลากหลาย ซึ่งทางคณะฯ ได้ออกแบบภูมิทัศน์และมีนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ร่วมกันสร้างพื้นที่ เนรมิตให้เป็นสวนผัก ผลไม้และไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ "การลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริงครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ และส่งเสริมความเป็นอาสา ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันต้องเติมเต็ม"
น.ส.นาตารี สุวภาพกุล หรือ "ลี" นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่าเป็นการนำสิ่งที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น วิชาวัสดุที่เกี่ยวข้องกับงานตกแต่งภูมิทัศน์ ซึ่งตนและเพื่อนได้ช่วยกันทำอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้การดูและให้คำชี้แนะจากอาจารย์พิศาล และหวังว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับ ร.พ.ธัญญารักษ์ ต่อไป
ขณะที่ นายศิลป์ สายทิพย์ (เต๋า) เล่าว่า จากพื้นที่โล่ง ๆ ได้กลายมาเป็นพื้นที่เกษตรพอเพียงต้นแบบ ในฐานะนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้ใช้กำลังแรงกาย แรงใจและแรงคิดของตนเองให้เกิดประโยชน์ ได้ปรับพื้นที่ ได้ก่อบล็อกเพื่อทำแปลงผัก ซึ่งออกแบบเป็นสัญลักษณ์ wifi ให้ความรู้สึกทันสมัยและแตกต่าง ขณะที่ซุ้มทางเข้า ออกแบบตามลักษณะของใบตอง สื่อความเป็นธรรมชาติและออกแบบตามสิ่งที่ปลูกไว้แต่เดิม นั่นคือต้นกล้วย "แม้จะเหนื่อย แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ" เช่นเดียวกับน.ส.ปาลาวี หลังสัน (มี่) มองว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้เสียสละเวลาส่วนตนมาทำเพื่อส่วนรวม มาช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการบำบัดมีชีวิตที่ดี สร้างแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป
ปิดท้ายด้วย นายโชติวุฒิ ดีใหม่ หรือ "เอฟ" หนุ่มนักศึกษาที่ใฝ่ฝันจะเป็น Landscape Designer เล่าว่า ตนชอบเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าทฤษฎี ชอบความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ อยากสร้างหรือออกแบบสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความชอบและตรงกับความสนใจส่วนตัว "ได้ทำจริง ปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้หน้างาน ทำให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น"
จากพื้นที่ธรรมดา ถูกเนรมิตด้วยฝีมือนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ ที่กำลังจะเป็นพื้นที่เกษตรพอเพียงต้นแบบ ซึ่งให้แรงบันดาลใจด้านการเกษตร และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงพยาบาลต่อไป