กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
WHO ชื่นชม ประเทศไทย ที่สามารถ "กำจัดโรคเท้าช้างหมดจากประเทศ" ในการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 70 ในระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2560 ณ สาธารณรัฐมัลดีฟส์
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่ การกำจัดโรคเท้าช้าง ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส กำหนดนโยบายการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้ สำนักงานโครงการงานควบคุมปราบปรามโรคติดต่อและการสาธารณสุขฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส (ศูนย์ฯพิกุลทอง) และ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่12.4 จังหวัดนราธิวาส (ศตม. 12.4 นราธิวาส) รับผิดชอบการจัดทำแผนการดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่ ประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อำนวยความสะดวกในการลงไปปฏิบัติงานเชิงรุกในพื้นที่แพร่เชื้อโรคเท้าช้าง ประกอบด้วยป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่สำคัญของ ยุงเสือ ที่เป็นพาหะของโรคเท้าช้างและต้องลงปฏิบัติงานในเวลากลางคืนเนื่องจากธรรมชาติของเชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง จะปรากฏในเวลากลางคืน โดยโครงการกำจัดโรคเท้าช้างมีกิจกรรมการดำเนินงาน 3 มาตรการหลักคือ 1)จ่ายยารักษาโรคเท้าช้างแบบกลุ่มแก่ประชาชนทุกรายยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงมีครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2)การจ่ายยารักษาผู้ป่วยเฉพาะรายที่ตรวจพบเชื้อพยาธิโรคเท้าช้าง จากการสำรวจค้นหาผู้ป่วยใหม่โดยเจาะโลหิตประชาชนทุกรายในพื้นที่แพร่โรคเท้าช้าง3) การควบคุมรังโรคในสัตว์เลี้ยง (แมว) ด้วยวิธีเจาะโลหิตและฉีดยาแมวทุกตัวในชุมชนเพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ พร้อมทั้งควบคุมกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการกำจัดโรคเท้าช้างทั้ง 3 มาตรการ
จากการดำเนินงานตามโครงการกำจัดโรคเท้าช้างในระยะแรก(ปีพ.ศ.2545-2549)สามารถควบคุมการแพร่โรคเท้าช้างในคนได้ระดับหนึ่ง แต่ยังพบว่าผลการเจาะโลหิตประชาชนในพื้นที่ หลังจากรับประทานยาไปแล้ว ยังคงตรวจพบผู้มีเชื้อพยาธิโรคเท้าช้างในกระแสโลหิตอยู่ การควบคุมโรคเท้าช้างจึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการโดยให้เครือข่ายร่วมดำเนินการ โดยดำเนินมาตรการควบคุมโรคเท้าช้างเฉพาะในคนเท่านั้น โดยเชิญเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาชน เข้ามารับฟังปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขการดำเนินงานควบคุมโรคเท้าช้าง จึงเกิดเป็นการดำเนินการควบคุมโรคเท้าช้าง แบบบูรณาการ จัดอบรมให้ความรู้ มาตรฐานการควบคุมโรคเท้าช้าง เทคนิคช่วงเวลาการเจาะโลหิตในคน การสำรวจประชากรแมว ให้ความรู้วิธีการจับแมว การเจาะโลหิตแมว มาร่วมทดลองศึกษา การใช้ยาฆ่าเชื้อพยาธิในแมวและการรักษาแมวที่มีเชื้อ และพัฒนาเพื่อหาประสิทธิภาพของยาไอเวอร์เมคติน มาใช้ในการควบคุมโรคในแมวจนได้ขนาดยาและมาตรฐานการใช้ยาที่เหมาะสม และมีการนำผลการพัฒนาการใช้ยาไปใช้ในการควบคุมรังโรคเท้าช้างในแมวที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชและจากสถานการณ์ความไม่สงบทำให้เจ้าหน้าไม่สามารถออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนได้ จึงจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ออกเจาะโลหิตประชาชนแทน และส่งฟิมล์โลหิตให้เจ้าหน้าที่อ่านผล รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
ดร.นพ.สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริการสุขภาพด้านการกำจัดโรคเท้าช้างแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะต้องมีความรู้ ตระหนัก เกิดความร่วมมือ ประชาชนได้รับการจ่ายยาและกินยารักษาแบบกลุ่ม มีความครอบคลุมสูงขึ้น ผู้ป่วยและแหล่งรังโรคในแมวได้รับการค้นหาโดยการเจาะโลหิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยและแมวที่เป็นรังโรคได้รับการรักษาทำให้โรคเท้าช้างและรังโรคในสัตว์ในชุมชนลดลงตามเกณฑ์และมาตรการขององค์การอนามัยโลก โดยมีภาคีเครือข่ายในชุมชนมีส่วนร่วม ในชุมชน อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และสร้างความยั่งยืนในการบูรณาการงานบริการสุขภาพต่อไป ธรรมชาติของโรคเท้าช้างที่เจาะโลหิตพบเชื้อในเวลากลางคืน เมื่อมีการกำจัดโรคเท้าช้างแบบบูรณาการ เครือข่ายภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกำหนดบทบาทและร่วมมือดำเนินการในการกำจัดโรคเท้าช้างแบบบูรณาการทำให้ประชาชนในพื้นที่แพร่โรคปลอดภัยจากโรคเท้าช้างและปัญหาสุขภาพอื่นส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นต้นแบบการควบคุมโรคเท้าช้างในแมวจังหวัดเดียวของประเทศไทย
โครงการกำจัดโรคเท้าช้างแบบบูรณาการ จังหวัดนราธิวาสประสบผลสำเร็จ โรคเท้าช้างไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของจังหวัด องค์การอนามัยโลกประกาศให้จังหวัดนราธิวาสหยุดการจ่ายยารักษากลุ่มส่งผลให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้ประเทศไทยปลอดจากโรคเท้าช้างด้วย ส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่สำคัญเกิดจากการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ได้มีพระราชดำริ จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองขึ้นมาในจังหวัดนราธิวาสโดยจัดให้มีหน่วยงานต่างๆขึ้นภายในศูนย์ฯเพื่อแก้ปัญหาด้านต่างๆรวมทั้งด้านสาธรณสุข โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขจะดำเนินงานผ่าน งานโรคติดต่อ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรับผิดชอบในการควบคุมโรคเท้าช้างที่เป็นปัญหาโรคประจำถิ่นของจังหวัดนราธิวาส จนประสบผลสำเร็จการกำจัดโรคเท้าช้างได้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทย