กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
วันที่ 20 ตุลาคม 2560 ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวหนังสือ "พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย" ซึ่งเป็น 1 ใน 11 รายการ หนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่า หลังจากเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ วธ. ดำเนินการรวบรวมภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานพระบรมศพทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว จากส่วนกลาง ต่างจังหวัดและต่างประเทศ จัดทำ วีดิทัศน์ จดหมายเหตุฉบับราชการและจดหมายเหตุฉบับประชาชน เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีส่วนร่วมในการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9
รัฐมนตรีว่าการะทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ. จัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีฯ 11 รายการ ประกอบด้วย หนังสือจดหมายเหตุฉบับหลัก 1 รายการ หนังสือจดหมายเหตุฉบับรอง 6 รายการ หนังสือที่ระลึก 3 รายการ และแผ่นพับที่ระลึก 1 รายการ โดย 1 ในจดหมายเหตุฉบับรอง คือ หนังสือจดหมายเหตุบทกวีนิพนธ์โครงการกานท์กวีคีตการปวงประชาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีชื่อว่า "พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย" จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเนื้อหาหนังสือจดหมายเหตุฉบับนี้ได้รวบรวมบทกวีนิพนธ์ที่ศิลปิน ประชาชนหลากหลายอาชีพ เด็กและเยาวชนแต่งขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ 189 บท โดยมีภาพประกอบที่ถ่ายทอดเรื่องราวความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทย โดยขณะนี้ วธ.ได้จัดทำต้นฉบับหนังสือจดหมายเหตุดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดพิมพ์
นายวีระ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุฉบับนี้ วธ.ได้คัดเลือกบทกวีนิพนธ์ที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดกว่า 10,000บท มาบรรจุไว้ในหนังสือ 189 บท ทั้งนี้ คณะทำงานได้พิจารณาคัดเลือกบทกวีนิพนธ์แสดงความอาลัย โดยมีหลักเกณฑ์ต้องเป็นผลงานประพันธ์ของบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานหรือองค์กร มีเนื้อหาและการใช้ถ้อยคำงดงาม สมพระเกียรติ มีรูปแบบการประพันธ์ถูกต้องตามหลักภาษาและฉันทลักษณ์ร้อยกรองไทย ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยได้อย่างลึกซึ้ง
นายวีระ กล่าวว่า ส่วนภาพประกอบเป็นภาพถ่ายแสดงถึงความโศกเศร้า สุดอาลัยของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ต่อการเสด็จสวรรคตนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึงวันสุดท้ายที่ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 โดยคัดเลือกภาพถ่ายจากทั้งหมดกว่า 20,000 ภาพ ซึ่งเป็นผลงานช่างภาพมืออาชีพ ช่างภาพ จิตอาสา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประชาชนที่ส่งภาพเหล่านี้มายัง วธ.
อย่างไรก็ตาม บทกวีนิพนธ์ถวายความอาลัยและภาพถ่ายที่ไม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก รวบรวมไว้ในหนังสือจดหมายเหตุดังกล่าว จะนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุแห่งชาติ และเป็นเกียรติประวัติที่แสดงถึงความจงรักภักดี ความอาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้