กระทรวงเกษตรฯ เร่งจัดระเบียบสารกำจัดศัตรูพืชใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday October 31, 2001 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--อิมเมจ อิมแพ็ค
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรตามข้อกำหนด CODEX จัดทำ "นโยบายการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปี พ.ศ. 2545 - 2549" ฉบับแรกของไทย พร้อมรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ในปีหน้า
ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือ GTZ จัดทำ "นโยบายและแผนแม่บทการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. 2545 - 2549" เป็นฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้นำนโยบายและแผนแม่บทฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาไปแล้ว และเมื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติก็จะใช้ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2545 นี้
เดิมมาตรการในการควบคุมดูแลการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อกำหนดของพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษปี พ.ศ. 2535 เท่านั้น ทำให้มีการใช้อย่างไม่ถูกต้องและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเองด้วย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้รวบรวมและกำหนดนโยบายฉบับนี้ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย เกษตรกรผู้ใช้สารเคมี หน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้ได้รู้ถึงวิธีการใช้ และการหลีกเลี่ยงสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม" ดร.นวลศรี กล่าว และให้รายละเอียดด้วยว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช มาใช้ อย่างไม่ระวังต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้รับการกีดกันทางการค้า จึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ CODEX (หน่วยงานขององค์อนามัยโลก และ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ในเรื่องมาตรฐานสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงข้อกำหนดจากการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Earth Summit ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้มีการจัดการสารเคมีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
"ขณะนี้ผักและผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศมีสารพิษตกค้างสูงเกินกว่าปริมาณที่มาตรฐาน WTO กำหนดไว้มาก อาทิ ถั่วฝักยาวมีสารโครไฟริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษตกค้างสูงถึง 20.3 ppm ในขณะที่มาตรฐานกำหนดให้มีเพียง 0.2 ppm ส่วนผักคะน้าพบสารพิษไซเปอร์เมทรินตกค้างสูงถึง 4.72 ppm จากที่มาตรฐานกำหนดไว้เพียง 1 ppm เท่านั้น" ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กล่าว
องค์การความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือ GTZ เป็นองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนแก่ประเทศไทยปีละกว่า 46 ล้านบาท เป็นเวลากว่า 40 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 30 โครงการ ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบัน GTZ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเอชบอร์น ประเทศเยอรมนี และมีเงินทุนหมุนเวียนปีละกว่า 38 พันล้านบาท--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ