กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่เป็นเบื้องหลังของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ เหล่าสถาปนิก ผู้ที่ทุ่มเทชีวิตอุทิศให้กับงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทย โดยกลุ่มคนเหล่านี้นั้น ล้วนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ต่างๆ จาก "ครู" ผู้มีประสบการณ์ในฐานะผู้ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 6 สมเด็จครูของช่างทั้งปวง จนมาถึงพระพรหมพิจิตร ผู้วางรากฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไทยอย่างเป็นระบบ ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 8 และต่อเนื่องมายังอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี และพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ครูผู้ให้โอกาส โดยทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของนิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ" ที่จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
นางสาวทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า ถึงแม้ว่างานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยจะเป็นงานที่มีแบบแผนชัดเจน "แต่เราจะพบความคิดสร้างสรรค์ ในงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยทุกชิ้น โดยเฉพาะพระเมรุมาศ ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมของศิลปวิทยาการหลากแขนงของไทยเข้าไว้ด้วยกัน" เพราะการส่งต่อองค์ความรู้จากครูสู่ศิษย์จะเป็นการส่งทอดความรู้ในกระบวน หรือ งานไทยประเพณี ที่เป็นเสมือนกรอบสำหรับการทำงาน แต่ในส่วนรายละเอียดย่อย
ผู้สร้างสรรค์ผลงานเติมแต่งความสวยงามในแบบฉบับของตนเองที่ไม่ออกนอกกรอบได้อย่างอิสระ จึงทำให้ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไทยมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด เพียงแต่อยู่ในกรอบเกณฑ์เดียวกัน แต่ก่อนที่ศิลปินจะมาถึงระดับที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้แบบนี้นั้น เหล่าศิลปินในฐานะลูกศิษย์ต้องผ่านการ "ฝึกมือ" จนชำนาญการ มีฝีไม้ลายมือในการสร้างผลงานที่ดี และผ่านการ "ฝึกตา" ให้มองความงามที่เป็นไปในทางเดียวกัน สามารถบอกได้ว่า งานชิ้นไหนสวย งานชิ้นไหนไม่สวย และต้องแก้ไขอย่างไรจึงสวย
นอกจากนี้ เหล่าสถาปนิกที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราวในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ได้เปิดเผยว่า ศิษย์ที่ต้องการเป็นศิลปินทุกคนจะมีครู 2 ประเภทที่ไม่ได้สอนด้วยตำราหรือหนังสือ นั่นก็คือ "ครูที่เป็นงาน" และ "ครูที่เป็นคน" โดยครูที่เป็นงาน หมายถึง ชิ้นงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ต้องหมั่นสังเกตและพิจารณาในการฝึกตา เพื่อให้สามารถเข้าถึงหลักการมองความงามของชิ้นงาน รู้ถึงข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไข ในขณะเดียวกัน "ครูที่เป็นคน" จะเป็นผู้ทำหน้าที่ชี้นำศิษย์ ให้เห็นถึงทักษะที่โดดเด่นและสามารถพัฒนาต่อยอดได้ของศิษย์แต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยครูจะมีสายตาที่แหลมคม สามารถมองทะลุถึงความถนัดของแต่ละคน ก่อนที่จะมอบหมายงานให้ตามความถนัดเพื่อให้เกิดทั้งความสบายใจและความรวดเร็วในการทำงาน ซึ่งทั้งสององค์ประกอบเป็นการหล่อหลอมให้ศิลปินทุกคนมีทักษะ และประสบการณ์ทางด้านงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างประสบความสำเร็จ
อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นางช่างศิลปกรรมชำนาญการ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 กล่าวว่า การได้เจอครูผู้ให้หรือถ่ายทอดความรู้ให้อย่างพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น หนึ่งในผู้ใหญ่ที่ทรงคุณค่าที่ทุกคนให้ความเคารพ ถือเป็นบันไดที่ลดระยะทางในการก้าวสู่ความสำเร็จ การที่ได้เรียนรู้ และร่วมทำงานกับอาจารย์อาวุธ ผู้ที่คอยดูแลอยู่ห่างๆ และคอยแชร์ความคิดกับผู้ร่วมงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำงานแบบไม่ต้องกลัวผิดใดๆ นอกจากนี้อาจารย์พระพรหมพิจิตร ผู้วางรากฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไทยอย่างเป็นระบบ ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 8 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ถึงแม้เมื่อสิ้นอาจารย์พระพรหมไปแล้ว ก็ยังจะมีคนรุ่นใหม่ๆ มาสืบต่อการทำงาน สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันขาดไปจากสังคมไทย ฉะนั้นแล้วการส่งองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังคนรุ่นหลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเป็นการส่งต่อเปลวเพลิง ที่สามารถนำไปจุดต่อได้สืบไป
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ในนิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ" (Insight | Thai | Architecture) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 7 มกราคม 2561 เวลา 10.30 – 21.00 น. ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ ห้องแกลอรี่ ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-105-7441