กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน
สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมชุมชนแม่แจ่ม เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยแปรรูปเป็นพลังงาน สร้างรายได้ ลดปัญหาหมอกควัน และสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว
สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม ดำเนินโครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากข้าวโพด (Corn Pellet) ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยแปรรูปเป็นพลังงาน สร้างรายได้เกษตรกร และลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า พื้นที่ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณชีวมวลจาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นส่วนของ ต้น ตอ และใบ ประมาณ 84,000 ตันต่อปี ส่วนซังและเปลือก จำนวน 28,000 ตันต่อปี ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีกำจัดด้วยการเผาทำลาย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง หมอก ควัน จนนำไปสู่ปัญหามลพิษทางอากาศ ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงพลังงาน ได้เล็งเห็นความสำคญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินโครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากข้าวโพด (Corn Pellet) เพื่อแปรรูปเป็นพลังงาน ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง จำนวน 1 ระบบ กำลังการผลิต 1 ตันต่อชั่วโมง รวมถึงการอบรมความรู้ต่างๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวมวล การแปรรูปเป็นพลังงาน และขั้นตอนกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ให้กับทีมบริหารจัดการกระบวนการผลิตของสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องหมอกควันที่เกิดขึ้นภายในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยสามารถลดการเผาทำลายเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้จำนวน 1,600 ตันต่อปี ช่วยลดการปล่อยฝุ่นจากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมากกว่า 150 กิโลกรัมต่อปี และลดการปล่อยก๊าซต่างๆ ได้กว่า 500 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจาก ปัจจุบันเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งกำลังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา ขณะนี้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากข้าวโพดของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม มีตลาดรองรับทั้งจากภาคกลางและภาคเหนือหลายราย อาทิ บริษัท นิวเอเบิล กรีน เทคโนโลยี จำกัด กรุงเทพฯ บริษัท กรีน แอนด์คลีน จำกัด จังหวัดแพร่ และบริษัท ซีพีดี ชีทบอร์ด จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ไบโอเพลเลทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเป็น 3 ตันต่อชั่วโมง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่สนใจนำเชื้อเพลิงไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมลงนามสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากซังและเปลือกข้าวโพด ซึ่งเชื้อเพลิงดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือต่อไป เป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน
"โครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากข้าวโพด ถือเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นความสำเร็จของรูปแบบด้านการพัฒนาและการบริหารจัดการชีวมวลแปรรูปเป็นพลังงาน ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อใช้แก้ปัญหาหมอกควันเชิงพื้นที่และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม" พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว