กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งที่ผู้ขับรถมักประสบและวิตกกังวลในช่วงที่มีฝนตกหนัก ก็คือการต้องขับรถ ลุยน้ำท่วมโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งในกรณีที่ปริมาณน้ำสูงถึงขนาดท่วมห้องเครื่องนั้น ยิ่งเสี่ยงต่อการที่เครื่องยนต์ดับได้มากขึ้น ดังนั้น หากผู้ขับรถจำเป็นต้องขับรถในขณะ น้ำท่วมถนน จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนขับรถลุยน้ำ ควรเติมน้ำมันให้เต็มถัง เพราะแรงดันจากน้ำมันจะช่วยอัด ไม่ให้เกิดไอน้ำภายในถัง โดยจุดสำคัญที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ คือ ระบบจ่ายไฟทั้งคอยล์ สายไฟ จานจ่ายไฟ และปลั๊กหัวเทียน หากเกิดปัญหากับระบบจ่ายไฟ จะทำให้เครื่องยนต์ดับ ต้องใช้สเปรย์กันความชื้นฉีดป้องกัน เพราะแม้น้ำจะไม่เข้าถึงเครื่องยนต์ แต่ความชื้น จากการลุยน้ำ จะทำให้เกิดไอน้ำเกาะ เป็นต้นเหตุของเครื่องดับได้ และในขณะขับรถลุยน้ำ ต้องขับช้าๆ อย่างมีสติ สำหรับรถที่ใช้ระบบ พัดลมติดเครื่อง อย่าเร่งรอบเครื่องโดยเด็ดขาด เพราะปลายใบพัด อาจวักน้ำกระจายเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ หากพื้นถนนเป็นดินหรือลูกรัง จะทำให้ลื่นกว่าปกติ ให้แก้ไขโดยถอนคันเร่ง เพื่อลดความเร็ว และเปลี่ยนไปใช้เกียร์ที่สูงขึ้น เพื่อลดแรงบิดของล้อป้องกันการลื่นไถล และช่วยให้ดอกยางเกาะพื้นถนนดียิ่งขึ้น และหลังจากขับรถลุยน้ำแล้ว ต้องกำจัดน้ำออก จากชิ้นส่วนที่มีน้ำซึมเข้าไป โดยบริเวณที่ต้องดูแลมากที่สุด คือ ไดสตาร์ท ให้ทำความสะอาดโดยการดับเครื่องยนต์ แล้วสตาร์ทประมาณ ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อรีดน้ำออก หรืออาจใช้วิธีดึงสายคอยล์ออกก่อนสตาร์ท เป็นช่วงๆ ละไม่เกิน ๕ วินาที หากหลังจากขับรถลุยน้ำแล้ว ไม่สามารถเข้าเกียร์ได้ แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในชุดคลัทซ์ให้แก้ไขโดยเข้าเกียร์ค้างไว้ แล้วสตาร์ททันที หากยังไม่ได้ผล ให้ใช้วิธีเข็นลงจากที่สูงแล้วค้างเกียร์ไว้ แรงกระชากจะทำให้ชุดคลัทซ์หายเป็นปกติ ตลอดจนต้องตรวจสอบน้ำมันเบรก กระบอกลูกสูบ ลูกยาง ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ ทั้งนี้ เทคนิคการขับรถลุยน้ำที่กล่าวในข้างต้น เป็นวิธีปฏิบัติอย่างง่ายๆ ที่จะช่วยลดความสูญเสียเวลา และทรัพย์สิน จากการขับรถลุยน้ำ
(ที่มา : www.thaihealth.or.th)--จบ--