กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 6 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อาจทำให้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ และพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังขยายวงกว้างมากขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมชุดปฏิบัติการ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เน้นการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงยึดการปฏิบัติตามเผชิญเหตุ แบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า ปริมาณฝนกระจายตัวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีฝนตกกระจายอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ในปริมาณไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะยังคงการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ซึ่งปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบกับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 23 – 27 ตุลาคม 2560 จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 20 – 25 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ และพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมขัง รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประสานชลประทานจังหวัดติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ควบคุมการเปิด – ปิดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับระดับการขึ้น-ลงของน้ำทะเล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ วิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณน้ำท่าและปริมาณน้ำฝน รวมถึงปริมาณน้ำไหลผ่าน หากสถานการณ์มีแนวโน้มขยายวงกว้างให้จัดชุดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ให้จังหวัดสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังริมฝั่งแม่น้ำ และเสริมพนังกั้นน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงระดมเครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ที่สำคัญ ให้จังหวัดยึดการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ โดยกำหนดพื้นที่รับผิดชอบและแบ่งมอบภารกิจอย่างชัดเจน ทั้งในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤตให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ อีกทั้งเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัย และวิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยได้อย่างปลอดภัย ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำการระบายน้ำ และพยากรณ์อากาศ รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ หากมีประกาศเตือนภัยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป