กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สศท.8 เผยความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อยู่ที่ระดับ 83.38 เป็นเกณฑ์การพัฒนาที่ดี โดยการพัฒนาด้านสังคม สุขอนามัย อยู่ในระดับดีมาก ส่วนด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ อยู่ในระดับดี ในขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ายังขาดความสมดุลในระบบนิเวศ แนะส่งเสริมพัฒนาปรับปรุง และเร่งสานต่ออาชีพเกษตรกรรมให้รุ่นใหม่
นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลตัวชี้วัดความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และข้อมูลพื้นฐานโครงการว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 13 อำเภอ 77 ตำบล 665 หมู่บ้าน 179,476 ครัวเรือน ประชากร 531,524 คน ซึ่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความเสื่อมโทรม ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเกิดปัญหาระบบนิเวศเสียสมดุล ราษฎรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังเดิม และโยกย้ายถิ่นฐานออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพนอกพื้นที่
ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงมีพระราชดำริอย่างต่อเนื่องถึง13 ครั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการดำเนิน "โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.2753 ล้านไร่ ขึ้นในปี2535 และแล้วเสร็จในปี 2547 โดยยึดแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีสองแผนงานหลัก คือ
แผนบริหารจัดการและฟื้นฟูนิเวศลุ่มน้ำปากพนัง และแผนแม่บทการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเป้าหมายให้ราษฎรในพื้นที่อยู่ดีกินดี มีความสุข ตามพระราชประสงค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการ สนองพระราชดำริครอบคลุมทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาโดยลำดับ ระบบนิเวศต่างๆ ปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่โดยมีนิเวศแหล่งน้ำเป็นหัวใจหลัก ราษฎรที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกไปหาเลี้ยงชีพนอกพื้นที่กลับสู่ถิ่นฐานมาประกอบอาชีพในพื้นที่ มีความอยู่ดีกินดีขึ้นโดยลำดับจากการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ
สำหรับแผนการพัฒนาล่าสุด คือ แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2560-2564 มีวิสัยทัศน์ คือ "พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมสมดุล ประชาชนมีความผาสุก ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ตัวชี้วัดหลัก คือ ความผาสุกของเกษตรกรในพื้นที่ฯ
ในการนี้ สศท. 8 ได้จัดทำผลตัวชี้วัดด้านความผาสุกของเกษตรกรฯ ยึดตามวิธีการจัดทำดัชนีความผาสุกของประเทศ พร้อมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาการเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ โดยผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรวัดจากการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษาสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าในปี 2560 เกษตรกรในพื้นที่ฯ มีความผาสุกในระดับ 83.38 จัดอยู่ในระดับการพัฒนาดี แต่การพัฒนายังคงไม่สมดุล โดยการพัฒนาด้านสังคม และด้านสุขอนามัย อยู่ในระดับดีมาก ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม ทางด้านสิ่งแวดล้อม (สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของโครงการฯ) ยังอยู่ในระดับต้องปรับแก้ไข โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการการขยายพื้นที่เพื่อปลูกปาล์ม และยางพารา
ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ควรสนับสนุนการฟื้นฟูและปลูกป่าเพิ่ม เพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้มากขึ้น และการจัดที่ทำกินในพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้ง การส่งเสริมการดำเนินการพัฒนาปรับปรุง ฟื้นฟูทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการลดลงของคนรุ่นใหม่ ที่จะสืบทอดอาชีพเกษตรของพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จึงต้องส่งเสริม สร้างแนวทาง และสร้างความภูมิใจในอาชีพการเกษตรให้มากขึ้น โดยการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนหรือเกษตรกรรุ่นใหม่และแรงงานที่มีคุณภาพ เข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม เพิ่มมาตรการจูงใจให้ยุวเกษตรกร สานต่ออาชีพเกษตรกรรมต่อไป