กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กู๊ดเน็ตเวิร์ค
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2560 สภาวิศวกร โดย ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดสัมมนาเรื่อง "การก่อสร้างสะพานและโครงสร้างชั่วคราว กรณีศึกษาจากสะพานถล่มที่ชัยนาท พร้อมกับกล่าวบรรยายในหัวข้อการออกแบบและก่อสร้างสะพานระบบ Balanced cantilever และกรณีศึกษาสะพานถล่มที่จังหวัดชัยนาท ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค
อีกทั้ง นายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ ผู้ชำนาญการพิเศษระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ร่วมบรรยายถึงเรื่อง ระบบนั่งร้านก่อสร้างสะพานแบบเคลื่อนที่ได้ นายอรรถสิทธิ์ ศิริสนธิ ผู้ชำนาญการพิเศษระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา กล่าวบรรยายในหัวข้อความปลอดภัยในการก่อสร้างสะพานและระบบนั่งร้าน และนายชูเลิศ จิตเจือจุน ผู้ชำนาญการพิเศษระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา กล่าวบรรยายด้วยในหัวข้อการเสริมกำลังฐานราก พร้อมกับตอบข้อซักถามให้กับวิศวกรที่มาเข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่า 200 คนในวันดังกล่าว
ศ.ดร. อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยพบว่าการพังถล่มของนั่งร้านเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีต สภาวิศวกรจะเชิญวิศวกรโยธามาเข้ารับการฝึกอบรมในวันที่ 21 ตุลาคม ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค โดยใช้บทเรียนจากการพังถล่มของคอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ. ชัยนาท เพื่อให้วิศวกรได้เรียนรู้ และระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต อีกทั้งสภาวิศวกรกำลังจะเร่งจัดทำมาตรฐานและคู่มือสำหรับออกแบบและก่อสร้างนั่งร้านและโครงสร้างชั่วคราว เพื่อให้วิศวกรมีแนวทาง คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำประมาณ 6 เดือน
อีกทั้งเพื่อหาวิธีการป้องกันและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า วิศวกรจะต้องใส่ใจอย่างเข็มงวดและคำนึงถึงต่อการคุมงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ให้เกิดปัญหาเลยหรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดและเป็นปัญหาที่เบาที่สุด ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนหรือเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงตามมาได้ในภายหลัง
ดังนั้น สภาวิศวกรจึงชี้แนะถึง วิธีการที่วิศวกรไทยจะต้องระมัดระวัง ควบคุมงานก่อสร้างให้ปลอดภัยมากที่สุด สืบเนื่องจากประเทศไทยกำลังเร่งรัดให้มีโครงการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่หลายๆ โครงการเพื่อให้ทันและรองรับกับการเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการใช้นั่งร้านเหล็ก ต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบตามที่ผู้ผลิตกำหนด ห้ามดัดแปลงโดยใช้เหล็กข้ออ้อยเชื่อมต่อเอง และ ควรต้องคำนวณออกแบบโดยวิศวกรโยธาที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น
กรณีศึกษาดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์คอสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ. ขัยนาท ได้พังถล่มลงมาทับคนงานที่กำลังก่อสร้างจนได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายรายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 โครงสร้างสะพานดังกล่าวเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (prestressed concrete box viaduct) ก่อสร้างด้วยระบบคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) ช่วงกลางแม่น้ำมีความยาว 120 ม. สำหรับบริเวณที่พังถล่มไปนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่า คอสะพาน (approach slab) มีความยาวประมาณ 14 ม. ก่อสร้างระบบหล่อในที่มีนั่งร้านเหล็กรองรับ ซึ่งพบว่านั่งร้านเหล็กที่รองรับคอสะพานดังกล่าววิบัติ จึงทำให้คอสะพานถล่มลงมาบนพื้นดิน
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 สภาวิศวกรได้ส่งคณะผู้ชำนาญการพิเศษ เข้าตรวจสอบสาเหตุการวิบัติของนั่งร้านเหล็กที่รองรับน้ำหนักของคอสะพานดังกล่าว ร่วมกับวิศวกรจากกรมทางหลวงชนบท และจากบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งจากการสำรวจ สภาวิศวกรได้ตั้งข้อสันนิษฐานสาเหตุของการพังถล่ม ไว้ 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. การก่อสร้างนั่งร้านเหล็กรองรับคอสะพานอาจไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมเนื่องจากตรวจพบข้อบกพร่องหลายจุด เช่น การเชื่อมต่อขานั่งร้าน และ การยึดโยงค้ำยันนั่งร้านไม่ได้มาตรฐาน และ 2. ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้างสะพานเป็นไปตามแบบหรือไม่ เนื่องจากพบตำแหน่งรอยต่อขยายตัวไม่เป็นไปตามแบบ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังถล่มได้ อย่างไรก็ตามต้องมีการตรวจสอบว่าได้มีการขออนุญาตปรับเปลี่ยนแบบที่ใช้ก่อสร้างหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาวิศวกร นั้นมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องเรียกตัววิศวกรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูล เนื่องจากโครงสร้างสะพานดังกล่าวมีช่วงยาวถึง 120 ม. ซึ่งจัดเป็นวิศวกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 ดังนั้นสภาวิศวกรจะมีการดำเนินการทางจรรยาบรรณกับวิศวกรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุการวิบัติที่แท้จริง และหากพบว่า มีวิศวกรที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ อาจจะมีโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต