ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 24, 2017 12:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ไทยออยล์ แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 ต.ค. 60) ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว หลังสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักระหว่างรัฐบาลกลางอิรักและชาวเคิร์ด รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ที่ปะทุและทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลง หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตออกไปจากเดือน มี.ค. 61 ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันจากประเทศจีนที่แข็งแกร่ง และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ อาจกลับมาดำเนินการผลิต หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: - ล่าสุดสถานการณ์ในอิรักที่ยังคงตึงเครียดหลังจากที่กองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด หลังชาวเคิร์ดได้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดบ่อน้ำมันดิบ Bai Hassan และ Avana ชั่วคราว และทำให้การผลิตน้ำมันดิบราว 3.5 แสนบาร์เรลต้องหยุดชะงัก - ติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ได้เคยทำสัญญาไว้ในปี 2558 แม้ว่าผู้ตรวจสอบจากนานาชาติได้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวแล้วก็ตาม - กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 ต่อไปอีกราว 6 - 9 เดือน ซึ่งอาจมีการกำหนดนโยบายดังกล่าวในการประชุมของกลุ่มโอเปกที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 2560 นี้ ณ กรุงเวียนนา - อุปสงค์น้ำมันจากประเทศจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดธนาคารกลางจีนคาดการณ์เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 7 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 นอกจากนี้ จีนมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบในระดับสูงเพื่อเป็นน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จีนได้ทยอยเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2558 และมีน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ราว 850 ล้านบาร์เรล โดยล่าสุดตัวเลขการนำเข้าน้ำมันของจีนในเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีการนำเข้าเฉลี่ยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 60 อยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากผลกระทบของพายุเฮอริเคน Nate โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ รายสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ต.ค.60 ปรับลดลงราว 5.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 456.6 ล้านบาร์เรล - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) หลังจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ทยอยกลับมาดำเนินการผลิต ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale Oil ในเดือน พ.ย. 60 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 81,000 บาร์เรล สู่ระดับ 6.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ดัชนีภาคการบริการ (Markit Services PMI) ของยูโรโซนและสหรัฐฯ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีราคาบ้าน ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก จีดีพีไตรมาส 3/60 และ ดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลไตรมาส 3/60ของสหรัฐฯ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 ต.ค. 60) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในอิรักที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากกองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด ประกอบความขัดแย้งระหว่างระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศจะไม่รับรองข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน ซึ่งอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้น้อยลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ