กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้เดินทางมาร่วมงานในแต่ละพื้นที่ แนะประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าว่า ส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัดจะมีประชาชนเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคภายในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัด ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยลงพื้นที่ประเมินความเสี่ยงโรคและพาหะนำโรคบริเวณรอบพระเมรุมาศจำลอง และฉีดพ่นสารกำจัดยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก สนับสนุนทีมติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังโรค และสืบสวนโรค หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติด้านโรคและภัยสุขภาพในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ยังได้สนับสนุน เจลล้างมือชนิดหัวปั้ม ยาทากันยุงชนิดซอง ยาดมพิมเสนน้ำ และหน้ากากอนามัยให้แก่สำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมพระราชพิธี เพื่อเป็นการร่วมดูแลประชาชนและป้องกันควบคุมโรคในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก สำหรับประชาชนที่จะเข้าร่วมพระราชพิธีดังกล่าว ควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน และในวันเข้าร่วมงานควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี พกหมวก ร่ม นำอาหารที่ไม่บูดเสียง่ายและน้ำดื่มติดตัว กรณีเป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้พกบัตรที่ระบุชื่อ ที่อยู่ โรคประจำตัว ชื่อญาติและหมายเลขโทรศัพท์ มาในวันเข้าร่วมงานด้วย
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงงานพระราชพิธีดังกล่าว พื้นที่ทางภาคใต้ยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน โรคติดต่อที่ควรระวังในช่วงนี้จึงได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งติดต่อได้ง่ายในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด โรคอาหารเป็นพิษ ที่เกิดจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีสารพิษปนเปื้อน และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่นโรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งหากป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้องรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด เบาหวาน ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจึงควรดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง