ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 25, 2000 10:03 —ThaiPR.net

กรุเทพฯ--25 เม.ย.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 4/2543 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2543 มีมติในเรื่องเกี่ยวกับ
1. การแก้ไขเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2. เกณฑ์การออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrant : D.W.)
3. เกณฑ์การขอรับความเห็นชอบการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์
4. การแก้ไขเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว
5. การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
1. การแก้ไขเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการของการแก้ไขเกณฑ์การรับและเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในกระดานหลัก (main board) และเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนของกระดาน MAI (Market for Alternative Investment) โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด รวมทั้งการอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้นบริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (second listing หรือ dual listing) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเอื้ออำนวยให้บริษัทที่มีศักยภาพและคุณสมบัติเพียงพอสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้มากขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มทางเลือกของสินค้าในตลาดทุนให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย
การแก้ไขเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้งในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ และกระดาน MAI เป็นการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในส่วนของผลการดำเนินงานเชิงตัวเลขให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งมาได้ไม่นานก็สามารถเข้าจดทะเบียนในกระดาน MAI ได้ จึงแบ่งหมวดในกระดาน MAI ออกเป็น 2 หมวด เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบความเสี่ยงของการลงทุนที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น
หมวดที่ 1 สำหรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีประวัติการประกอบธุรกิจและมีศักยภาพในการเติบโต เช่น บริษัทในหมวดอุตสาหกรรมทั่วไป เป็นต้น
หมวดที่ 2 สำหรับหลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่มีประวัติการประกอบธุรกิจแต่มีอัตราการเจริญเติบโตทางธุรกิจสูง เช่น บริษัทเทคโนโลยี หรือบริษัทขนาดเล็ก หรือบริษัทที่เพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน เป็นต้น
หลักการแก้ไขเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียนของกระดานหลักและกระดาน MAI มีดังนี้
_____________________________________________________________________________________________________________________________
รายการ เกณฑ์ปัจจุบัน เกณฑ์ที่จะแก้ไข
__________________________________________________________________________________________________________________________________
กระดานหลัก กระดาน MAI กระดานหลัก กระดาน MAI
หมวดที่ 1 หมวดที่ 2
__________________________________________________________________________________________________________________________________
1. ทุนชำระแล้ว > 200 ล้านบาท > 40 ล้านบาท > 200 ล้านบาท > 40 ล้านบาท ไม่กำหนด
2. ประวัติการประกอบธุรกิจ 3 ปี 2 ปี 3 ปี 3 ปี 2 ปี ไม่กำหนด
(track record)
3. ผลการดำเนินงาน กำไรสุทธิปีที่ ไม่กำหนด เพิ่มช่องทางเป็น ไม่กำหนด ไม่กำหนด
(performance) 1+/ -ปีที่ 2 3 ทางเลือก
+ปีที่ 3 >30 1. เกณฑ์กำไร
ล้านบาท (profit-based)
กำไรปีที่ 3 >
30 ล้านบาท
2. เกณฑ์รายได้
(sales-based)
ปีล่าสุด >
2,000 ล้านบาท
3.เกณฑ์ขนาดมูลค่าตลาด
(Mkt.cap-based)
> 1,500 ล้านบาท
4. ทีมผู้บริหาร 3 ปี 2 ปี 1 ปี ไม่กำหนด ไม่กำหนด
5. ขาดทุนสะสม ไม่มีขาดทุนสะสม ไม่กำหนด ไม่กำหนด ไม่กำหนด ไม่กำหนด
แต่ส่วนของผู้ถือหุ้น แต่ส่วนของผู้ถือหุ้น แต่ส่วนของผู้ถือหุ้น แต่ส่วนของผู้ถือหุ้น
> ทุนชำระแล้ว > 200 ล้านบาท > 40 ล้านบาท > 0
ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขเกณฑ์รับหลักทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และบริษัทในเครือ (chain listing) เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ปกติที่ได้มีการแก้ไขข้างต้น และลดปัญหาการปรับโครงสร้างการถือหุ้นเพื่อเลี่ยงการเป็นบริษัทในเครือ อันจะอำนวยความสะดวกในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น
สำหรับการแก้ไขเกณฑ์การเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนในกรณีขอเพิกถอนหลักทรัพย์โดยสมัครใจ จะทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถรับซื้อคืนหุ้นได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการของการอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้นบริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (second listing หรือ dual listing) โดยกำหนดให้เกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์รับหลักทรัพย์จดทะเบียนปกติ และบริษัทดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน เพื่อให้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลและคุณภาพของบริษัทดังกล่าวอยู่ในระดับเดียวกับบริษัทจดทะเบียนอื่น รวมทั้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นเกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์และการควบคุมปริวรรตเงินตราจากการซื้อขายหลักทรัพย์ใน 2 ตลาด
2. เกณฑ์การออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrant : D.W.)
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ ที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงบางประการให้เหมาะสมขึ้นตามข้อหารือของภาคเอกชน และเพิ่มเติมเกณฑ์การอนุญาตให้มีการออก D.W. เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีสรุปสาระสำคัญตามเอกสารแนบ 1
3. เกณฑ์การขอรับความเห็นชอบการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากได้มีกฎกระทรวงหลายฉบับ กำหนดว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขอรับความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2543 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขอความเห็นชอบบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อสำนักงาน พร้อมทั้งกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้างต้น เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎกระทรวง เป็นเกณฑ์เดียวกับประกาศกระทรวงการคลัง (สรุปหลักเกณฑ์ของร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ปรากฏตามเอกสารแนบ 2)
4. การแก้ไขเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการของการแก้ไขเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai trust fund : TTF) โดยให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมสามารถถือหุ้นเพิ่มทุนได้โดยตรงเพื่อ TTF โดยไม่ต้องผ่านผู้รับประกันการจัดจำหน่าย (underwriter) หรือรอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนก่อน อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทจดทะเบียนในการใช้ TTF เป็นเครื่องมือเพื่อการระดมทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้แก่ผู้ลงทุนต่างประเทศ
5. การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม (ฉบับที่ ...) ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจัดการลงทุนแล้ว เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บริษัทจัดการ) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดไม่ถูกต้องอย่างมีนัยสำคัญ
ในระหว่างที่บริษัทจัดการยังไม่สามารถแก้ไขการคำนวณดังกล่าวได้ และผู้ดูแลผลประโยชน์ยังไม่ได้รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา หากมีผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนหรือซื้อหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังนี้
1. กรณีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้ โดยบริษัทจัดการสามารถเลื่อนกำหนดการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนออกไปไม่เกิน 10 วันทำการนับตั้งแต่วันทำการถัดจากวันที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ทั้งนี้ หากบริษัทจัดการยังไม่สามารถแก้ไขราคาให้ถูกต้องได้ภายในเวลาดังกล่าวอีก บริษัทจัดการอาจขอผ่อนผันต่อสำนักงานเพื่อเลื่อนกำหนดการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนออกไปได้ นอกจากนี้ ให้บริษัทจัดการประกาศการเลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนและแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนโดยพลัน รวมทั้งแจ้งการเลื่อนและจัดทำรายงานในเรื่องข้างต้นให้สำนักงานทราบโดยพลันด้วย
2. กรณีการขายหน่วยลงทุนเพิ่ม ให้บริษัทจัดการหยุดขายหน่วยลงทุนจนกว่าจะได้มีการแก้ไขราคาหน่วยลงทุนให้ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ ให้บริษัทจัดการประกาศการหยุดขายหน่วยลงทุนและแจ้งให้ผู้ที่ได้มีคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนทราบโดยพลันด้วย________________________________________________________________________________________________________เอกสารแนบ 1สรุปหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย D.W.
I. กรณี D.W. ทั่วไป (เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง)
1.ขั้นตอนการอนุญาต สามารถทำได้ 2 ลักษณะ เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ทั่วไป คือ เสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) หรือเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป (PO)
1.1 การพิจารณาอนุญาต
-กรณี PP ใช้เวลา 7 วัน
-กรณี PO ใช้เวลา 30 วัน
-ผู้ได้รับอนุญาตสามารถเสนอขาย D.W. ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต
-ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำรงคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้น สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการอนุญาตดังกล่าว
1.2 การออก D.W.
-กรณีการออก D.W. ในหุ้น : ก่อนการออก D.W. ในหุ้นแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นขออนุญาตใช้หุ้นอ้างอิงต่อสำนักงาน โดยจำนวนรวมของหุ้นที่ใช้เป็นหุ้นอ้างอิงของ D.W. ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่ขออนุญาต ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานจะใช้เวลาพิจารณาอนุญาต 3 วันทำการและผู้ได้รับอนุญาตต้องขาย D.W. ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้การอนุญาตดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง
-กรณีการออก D.W. ในดัชนีหลักทรัพย์ : ผู้ได้รับอนุญาตสามารถออก D.W. ในแต่ละครั้งได้โดย ไม่ต้องยื่นขออนุญาตใช้ดัชนีอ้างอิงต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวจะต้องเป็น SET Index หรือ SET 50 Index เท่านั้น
1.3 เงื่อนไขการอนุญาตให้ออก D.W. สำหรับการตรวจสอบภายหลัง (จากเดิมที่กำหนดเป็นเกณฑ์ในการอนุญาต)
-กรณี PP
-ผู้ได้รับอนุญาตต้องจดข้อจำกัดการโอนก่อนการเสนอขาย
-จัดให้ D.W. มีลักษณะตามที่กำหนด โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ เป็นชนิดที่ระบุชื่อผู้ถือ,call warrant อายุไม่เกิน 2 ปี, และชำระราคาโดยส่งมอบเป็นหุ้นหรือเงินสดก็ได้
-กรณี PO
-ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อกำหนดสิทธิและสัญญารับฝากทรัพย์สินตามลักษณะที่กำหนดด้วย
-จัดให้ D.W. มีลักษณะตามที่กำหนด โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ เป็นชนิดที่ระบุชื่อผู้ถือ,call warrant อายุไม่เกิน 2 ปี, และชำระราคาโดยส่งมอบเป็นหุ้นหรือเงินสดก็ได้
2. หลักเกณฑ์การอนุญาต
2.1 คุณสมบัติผู้ออก (กรณี PP)
(1) เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย
(2) มีมติคณะกรรมการให้ออก D.W. แต่ละครั้ง โดยในกรณีที่เป็น บมจ. ที่เคยทำ PO และ ไม่เคยออก D.W. มาก่อน หรือไม่มี D.W. คงค้างใน 2 ปีที่ผ่านมาก่อนยื่นคำขออนุญาต และผู้ออกต้องมีมติผู้ถือหุ้นเพื่อรับทราบถึงความเสี่ยงและนโยบายการบริหารความเสี่ยง
(3) ไม่เป็นบุคคลภายในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
2.2 คุณสมบัติผู้ออก (กรณี PO)
(1) - (3) เหมือนกรณี PP
(4) ผู้บริหารไม่มีลักษณะต้องห้าม
(5) ไม่มีประวัติการเป็นบริษัทที่ออก D.W. ที่ขาดความรับผิดชอบในการเป็นผู้ออก D.W. หรือไม่มีผู้บริหารที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในบริษัทดังกล่าว
(6) - เป็นบริษัทหลักทรัพย์ กรณีการออก D.W. ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินหรือไม่ก็ได้
- เป็นบริษัทที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท กรณีการออก D.W. ที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวนเท่านั้น
นอกจากนี้ ในวันเสนอขาย D.W. ผู้ได้รับอนุญาตต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 4 อันดับสูงสุดโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หรือได้รับการค้ำประกันโดยบุคคลที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ใน 4 อันดับสูงสุดจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หรือจาก S&P Moody's Investors Service หรือ Fitch IBCA DCR หรือบริษัทย่อยของบริษัทดังกล่าว
(ข) ในกรณีเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะเสนอขาย D.W. ที่มิได้จัดให้มีการฝากทรัพย์สินเต็มจำนวนบริษัทหลักทรัพย์นั้นต้องมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของหนี้สินทั่วไป และมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ให้บริการด้านอนุพันธ์และมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
- มีการทำสัญญาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำสัญญา identical option แบบ back to back กับบริษัทที่มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยง
II. กรณี D.W. เพื่อการฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้
- มีลักษณะคล้ายสัญญาขายหลักทรัพย์ล่วงหน้าเช่นเดียวกับ D.W. ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ภายใต้โครงการ 14 สิงหาคม 2541
- ผู้ออกเป็นสถาบันการเงินไทยหรือต่างประเทศ หรือบริษัทเฉพาะกิจ (SPV)
- หุ้นรองรับ D.W. ต้องเป็นหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทมหาชนจำกัดออกให้เจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างเงินทุน และเจ้าหนี้ที่ได้รับหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นผู้ออก D.W.
- มีหลักเกณฑ์การอนุญาตที่ผ่อนปรนกว่ากรณี D.W. ทั่วไป
______________________________________________________________________________________________________________
เอกสารแนบ 2
สรุปหลักเกณฑ์ของร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบบุคคลที่เป็นหรือจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์
-กรณีที่ต้องขอความเห็นชอบ
1.กรณีที่การเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกิดขึ้นจากการที่บริษัทหลักทรัพย์มีการเพิ่มทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ยื่นคำขอรับความเห็นชอบก่อนวันที่บริษัทหลักทรัพย์จะขายหุ้นเพิ่มทุนอันเป็นผลให้บุคคลนั้น เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
2.กรณีอื่น ๆ ให้บริษัทหลักทรัพย์ยื่นคำขอภายใน 14 วันนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่ามีบุคคล ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
-บทเฉพาะกาล
บทบังคับของประกาศนี้ไม่มีผลย้อนหลังถึงบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ แต่หากในวันหรือหลังจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ บุคคลดังกล่าวได้มาหรือจะได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นนั้นมิได้เกิดจากการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามส่วนของจำนวนหุ้นที่มีอยู่ก่อนแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จะต้องขอความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่กำหนด
-ระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
สำนักงานสามารถกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมของบุคคลนั้นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ระยะเวลาที่จะไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะต้องไม่เกิน 5 ปี โดยสำนักงานจะประกาศกำหนดปัจจัยที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรม และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว สำนักงานจะไม่นำข้อเท็จจริงอันเป็นลักษณะต้องห้ามที่เป็นเหตุในการไม่ให้ความเห็นชอบในครั้งก่อนเป็นเหตุในการไม่ให้ความเห็นชอบในครั้งหลังอีก อย่างไรก็ตาม เพื่อความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการบังคับใช้กฏหมาย กรณีที่ผู้ขออนุญาตมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายที่สำนักงานกำหนดระยะเวลาสูงสุดในการไม่ให้ความเห็นชอบไว้ไม่เกิน 1 ปี และไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าการที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริาทหลักทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนหรือผู้ลงทุน อาจพิจารณาได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีลักษณะต้องห้ามอันนำไปสู่การเพิกถอนหรือการไม่ให้ความเห็นชอบ
-ลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
1. เป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ
2. อยู่ระหว่างกล่าวโทษหรือถูกดำเนินคดีตามกฏหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงิน ไม่ว่ากฎหมายไทยหรือต่างประเทศ ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉล หรือทุจริต
3. เคยได้รับโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต 4
4. เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินไม่ว่ากฎหมายไทยหรือต่างประเทศ ทั้งนี้ ในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการบริหารงานที่มีลักษณะเป็นการฉ้อฉล หรือทุจริต
5. เคยถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่ว่าด้วยการกระทำไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือกฎหมายต่างประเทศ ในความผิดทำนองเดียวกัน
6. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากงาน อันเนื่องจากการกระทำโดยทุจริต
7. เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ ตามมาตรา 144 หรือ 145 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ หรือกฎหมายอื่น อันเนื่องมาจากเหตุในทำนองเดียวกัน
8. เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารที่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินที่ถูกทางการสั่งการ
9. มีการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต
10. จงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ หรือปกปิดข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญในการขอความเห็นชอบเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือในรายงานอื่นใดต่อสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต.
11. มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินหรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (http://secwww.sec.or.th)
สำนักเลขาธิการ ชั้น 16 อาคารดีทแฮล์ม ทาวเวอร์ส บี 93/1 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ 252 - 3223 ต่อ 1619 และ 256 - 7732 โทรสาร 256 - 7755 E-mail : info@sec.or.th-- จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ