กทม.จัดสัมมนาผู้ปฏิบัติงานกองทุนชุมชน เร่งหาแนวทางให้มีกองทุนชุมชนครบทุกชุมชน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2001 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.44) เวลา 09.30 น. ที่ห้องมรกต โรงแรมอินทรารีเย่นต์ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกองทุนชุมชนเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายสมพงษ์ หิริกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอนุกรรมการกำหนดชุมชนเมือง นายสันติ อุทัยพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายสมภพ ระงับทุกข์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน ผู้จัดการธนาคารออมสินทุกสาขาที่อยู่ในกทม. และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านพัฒนาชุมชนของทั้ง 50 เขต รวมจำนวนกว่า 350 คน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การนำนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมาสู่การปฏิบัติมีปัจจัยสำคัญคือ งบประมาณสนับสนุน และระบบการบริหารจัดการอันจะเป็นเครื่องมือส่งเสริมการรวมตัวของชุมชนและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบ ร่วมด้วยช่วยกันของประชาชน โดยทางรัฐบาลให้แนวทางหลักในการนำนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมาสู่การปฏิบัติว่า ให้ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน มิใช่ผู้กำกับควบคุมแต่ให้ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบบริหารจัดการกองทุนเอง สำหรับการดำเนินงานกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาได้เน้นการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอบรมสัมมนาในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกองทุนชุมชนเมือง พร้อมหาวิธีแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากขั้นตอนการปฏิบัติ รวมทั้งการปฏิบัติระหว่างสำนักงานเขตกับธนาคารออมสินที่จะต้องมีการประสานความร่วมมือเรื่องการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความคล่องตัว มีวิธีปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินงานจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานครนั้น กทม.ได้กำหนดกองทุนชุมชนนำร่อง เขตละ 2 กองทุน ๆ ละ 1 ล้านบาท รวม 100 กองทุน โดยขณะนี้มีชุมชน จำนวน 42 ชุมชน จาก 21 เขต ที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการจัดตั้งกองทุนชุมชนเมืองได้ ประกอบด้วย เขตบางซื่อ 1 กองทุน เขตพญาไท 1 กองทุน เขตบางรัก 2 กองทุน เขตวังทองหลาง 1 กองทุน เขตหนองจอก 2 กองทุน เขตประเวศ 2 กองทุน เขตตลิ่งชัน 2 กองทุน เขตหลักสี่ 3 กองทุน เขตบางเขน 1 กองทุน เขตมีนบุรี 2 กองทุน เขตลาดกระบัง 2 กองทุน เขตบางแค 1 กองทุน เขตจอมทอง 7 กองทุน เขตดินแดง 2 กองทุน เขตบางพลัด 3 กองทุน เขตราชเทวี 2 กองทุน เขตบางกะปิ 2 กองทุน เขตยานนาวา 2 กองทุน เขตบึงกุ่ม 1 กองทุน และเขตคลองสามวา 2 กองทุน แต่ถ้าเขตใดมีความพร้อมที่จะดำเนินการจัดตั้งกองทุนชุมชนเมืองได้มากกว่า 2 ชุมชน เช่น เขตจอมทองสามารถดำเนินการได้แล้ว 7 กองทุน เขตบางพลัดและเขตหลักสี่เขตละ 3 กองทุน ก็สามารถประสานไปที่สำนักงานเขตในพื้นที่เพื่อขอเปิดเวทีชาวบ้านและดำเนินการจัดตั้งกองทุนชุมชนเมืองตามขั้นตอนต่อไปได้
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานช่วงแรกอาจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันหาวิธีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กทม.พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการดังกล่าวเนื่องจากเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับชุมชน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานของประเทศให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพเพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเมืองมีความเข้มแข็งและช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจตลอดจนปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดี--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ