กรมควบคุมโรคติดต่อบริการวัคซินแก่ผู้ไปแสวงบุญนครเมกกะฟรี เริ่มแต่ 1 ตค.44- 10 กพ. 45

ข่าวทั่วไป Friday September 21, 2001 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กรมควบคุมโรคติดต่อ
นายอิสมาแอล เจ๊ะมง ประธานอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม ได้เป็นประธานในการประชุมพิจารณาการเตรียมพร้อมในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ของชาวไทยมุสลิมในปีที่จะถึงนี้ว่า เพื่อให้การเตรียมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ซาอุดิอารเบีย เป็นไปด้วยความราบรื่น คณะกรรมาธิการ ฯ ได้ประชุมหารือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และกรมการบินพาณิชย์ กรมการศาสนา และสายการบินต่าง ๆ รวมทั้งได้พิจารณานำปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาแก้ไขเพื่อให้การบริการแก่ผู้ไปแสวงบุญได้ครบถ้วนและทั่วถึงยิ่งขึ้น
ด้านนายสวาส สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี และนายแพทย์ สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ได้ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวถึง การสร้างเสริมภูมิคุ้นกันโรคติดต่อให้กับผู้จะเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ ซาอุดิอารเบียในปีนี้ว่า กรมควบคุมโรคติดต่อจะเปิดบริการวัคซินป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น และไข้หวัดใหญ่ฟรีแก่ผู้จะไปแสวงบุญ ณ นครเมกกะ เริ่มแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 — 10 กุมภาพันธ์ 2545 โดยจะเปิดบริการระหว่างวันดังกล่าวที่ห้องฉีดวัคซินกรมควบคุมโรคติดต่อ ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพดอนเมือง ท่าเรือกรุงเทพคลองเตย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และ กองควบคุมโรค สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร
จุฬาราชมนตรี ชี้แจงต่อไปว่า ก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2541 จะมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบศาสนกิจในซาอุดิอาระเบีย ปีละ ประมาณ 25,000 ถึง 30,000 คน แต่หลังจากนั้น จำนวนผู้ไปแสวงบุญลดน้อยลงตามลำดับ โดยเฉพาะในปี 2544 นี้ จะมีผู้ไปแสวงบุญเพียงประมาณ 6,279 คน
นายแพทย์ สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ชี้แจงต่อไปถึงการบริการวัคซินว่า จากสถิติผู้แสวงบุญที่เข้ารับบริการจากหน่วยแพทย์ไทยของกระทรวงสาธารณสุขในเมืองเมกกะ พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นโรคทางเดินหายใจสูงถึงร้อยละ 80 และจะเป็นไข้หวัดใหญ่กันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรคติดต่อทางระบบหายใจที่รุนแรงคือ “ไข้กาฬหลังแอ่น” ซึ่งได้เกิดแพร่ระบาดครั้งแรกในเมืองเมกกะเมือปี พ.ศ. 2530 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจึงได้ออกระเบียบให้ผู้แสวงบุญทุกคน ต้องฉีดวัคซินป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วันก่อนออกเดินทางไปซาอุดิอาระเบีย และถึงแม้ทางการซาอุดิอาระเบียจะออกกฏดังกล่าวแล้วก็ตาม ยังปรากฏว่า ในปี 2544 นี้ ยังพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นถึง 109 ราย เสียชีวิตถึง 35 ราย ซึ่งอาการของโรคดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง มีผื่นขึ้นตามตัว และอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจะทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
ด้านการให้การป้องกันนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อเปิดเผยว่า จากผลการให้บริการวัคซินป้องกันโรค แก่ผู้ไปแสวงบุญนครเมกกะ ยังผลให้สามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจาก 14 รายในปี 2543 ลงเหลือ 7 รายในปีนี้ ซึ่งทั้ง 7 รายในปีนี้ ไม่ปรากฏว่าพบผู้เสียชีวิตจากไข้กาฬหลังแอ่นเหมือนปีก่อน ๆ และนอกจากนี้ยังสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจจากร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 70 เท่านั้น สำหรับจำนวนเที่ยวบินสำหรับเทสกาลฮัจย์และอุมเราะห์ปี 2544 - 2545 บริษัทการบินไทย จำกัด ได้จัดเที่ยวบินไปกลับด้วยเครื่องแอร์บัส A 300 — 600 ไว้ถึง 10 เที่ยวไปกลับ ดังนี้
เส้นทางหาดใหญ่ — เจดดาห์ มีเที่ยวไปและกลับ รวม 6 เที่ยว คือ เที่ยวแรก ไปวันที่ 18 มกราคม 2545 กลับ 4 มีนาคม 2545 เที่ยวที่สอง ไป 21 มกราคม 2545 กลับ 6 มีนาคม 2545 เที่ยวที่สาม ไป 23 มกราคม 2545 กลับ 8 มีนาคม 2545 เที่ยวที่สี่ ไป 25 มกราคม 2545 กลับ 10 มีนาคม 2545 เที่ยวที่ห้า ไป 27 มกราคม 2545 กลับ 12 มีนาคม 2545 เที่ยวที่หก ไป 29 มกราคม 2545 กลับ 15 มีนาคม 2545 เส้นทางภูเก็ต — เจดดาห์ มี 2 เที่ยวบินไปกลับคือ เที่ยวไป 2 กุมภาพันธ์ 2545 กลับ 17 มีนาคม 2545 และเที่ยวไป 8 กุมภาพันธ์ 2545 กลับ 19 มีนาคม 2545
เส้นทางหาดใหญ่ — เจดดาห์ มี 2 เที่ยวบินไปกลับคือ เที่ยวไป 10 กุมภาพันธ์ 2545 กลับ 21 มีนาคม 2545 และ เที่ยวไป 12 กุมภาพันธ์ 2545 กลับ 23 มีนาคม 2545
แต่อย่างไรก็ตาม ตามตารางการบินดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังการขออนุญาตทำการบินจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบียแล้ว--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ