กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ โพล เรื่อง ความสุข ความหวัง กับ ความกลัว ของสาธารณชนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 60 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,435 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา พบว่า
คนไทยที่ถูกศึกษามีความสุขในชีวิตโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 6.87 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และเมื่อจำแนกออกตามพื้นที่ พบว่า คนที่อยู่กรุงเทพมหานครมีความสุขต่ำสุดคือ 6.05 ในขณะที่ คนนอกเขตเทศบาล สุขสูงสุดอยู่ที่ 7.11 และ คนในเขตเทศบาลสุขอยู่ที่ 6.83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ที่น่าสนใจคือ ความสุขในมิติต่างๆ ของชีวิตคนไทยพบว่า สุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี อยู่ที่ 9.12 สุขกับคนในครอบครัวอยู่ที่ 8.46 สุขที่เห็นคนไทยรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ที่ 8.23 สุขกับสุขภาพใจของตัวเองอยู่ที่ 8.04 สุขกับเพื่อนบ้านในชุมชนอยู่ที่ 7.65 สุขกับสุขภาพกายของตัวเองอยู่ที่ 7.37 สุขที่เห็นคนไทยช่วยกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 7.12 คะแนน สุขกับหน้าที่การงานอยู่ที่ 6.48 สุขกับข่าวเศรษฐกิจฟื้นตัวอยู่ที่ 6.41 อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ความสุขของคนไทยต่ำสุด เมื่อนึกถึงสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคต อยู่ที่ 4.55 เท่านั้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึง ความหวัง กับ ความกลัว ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี พ.ศ. 2560 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 มีความหวัง จะก้าวต่อไป เพราะ เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ชีวิตต้องสู้ ไม่มีใครช่วยเราเท่ากับตัวเราเอง ไม่ท้อแท้กับชีวิต เศรษฐกิจเริ่มฟื้น เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 31.5 กลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในปีหน้า เพราะกลัวจะไม่มีเงินใช้ กลัวปัญหาการเมืองขัดแย้งรุนแรงบานปลาย กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวตกงาน กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวภาระหนี้สิน เป็นต้น