ร่วมเป็น "พลัง" เติมความหวังของเด็กไทยในการชิงชัย "ชีววิทยาโอลิมปิก" ที่เบลเยี่ยม

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 3, 2001 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สสวท.
หลายวันมานี้คนไทยที่รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ คงจะได้ทราบกันว่าช่วงนี้ประเทศไทยส่งเด็กไทยไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศใน 5 สาขาวิชา ประกอบด้วย ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยาและคอมพิวเตอร์ โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงาน
ซึ่งอีกไม่กี่วัน คือ วันที่ 8-15 กรกฎาคม 2544 นี้ ผู้แทนเยาวชนไทย จำนวน 4 คน ก็จะเดินทางไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่กรุงบรัสเซอร์ ประเทศเบลเยี่ยม กันแล้ว
จากสถิติการแข่งขันที่ผ่านมา ปรากฎว่าการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในวิชา "ชีววิทยา" เป็นวิชาที่เด็กไทยคว้าเหรียญทองมาได้มากที่สุด กล่าวคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา นับเวลาได้ 10 ปี ที่ประเทศไทยส่งเด็กไทยไปแข่งชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น เด็กไทยทำได้ถึง 6 เหรียญทอง 13 เหรียญเงิน 18 เหรียญทองแดงกันเลยทีเดียว
นับว่าชาวไทยได้เฮกันหลายครั้ง จากฝีมือของ ดวงเมือง แจ่มจำรัส (ปี 2535) ปกรณ์ กาญจนวงศ์ (ปี 2538) สิปปนนท์ แก้วทาสี (ปี 2538) สิรินญา มัจฉาชีพ (ปี 2538) ชาดร จันทร์สกุล (ปี 2541) และนางบุญ ฤทธิ์รักษ์ (ปี 2542) ที่คว้าเหรียญทองมาได้
จากสถิติจะเห็นว่าในปี 2538 เด็กไทยคว้าเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกมาได้ 3 รางวัล ถือว่าได้รางวัลแบบถล่มทลาย และเป็นที่ปลาบปลื้มใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอันมาก
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในวิชาชีพวิทยา อาจเป็นเพราะเนื่องจากความหลากหลายด้านพรรณไม้และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ยิ่งใหญ่และหาได้จากประสบการณ์ตรงแต่อย่างนั้นก็ตาม เด็กไทยยังเป็นรองชาติอื่นในแง่ของความอ่อนด้อยในการทำ LAB อาจเป็นเพราะความพร้อมด้านอุปกรณ์ก็มีส่วนอยู่บ้าง ฉะนั้น วิธีการที่จะเสริมทักษะด้านนี้ได้ก็คือการติวเข้ม "เคี่ยว" ทักษะในการทำ LAB ชีววิทยาให้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้ สสวท.เองก็ได้จัดค่ายอบรมเข้าชีววิทยารอบพิเศษ เพื่อเพิ่มเติมทักษะการทำ LAB ดังกล่าวให้แก่เด็กกลุ่มนี้จนมีความพร้อมในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ได้มาซึ่งเหรียญรางวัลนั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายด้าน ทั้งความเครียดสมาธิในระหว่างการแข่งขัน การเตรียมความพร้อมที่ดี ความสามารถทั้งทางทฤษฎี การใช้อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการต่อรองคะแนนของอาจารย์ผู้ควบคุมทีมกับคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัล
สำหรับผู้แทนประเทศไทยที่จะไปร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกในปีนี้ ประกอบด้วยนางสาวธนิสรา จันทร์กุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายอมรพล อนุวรรตน์วร โรงเรียนสวนกุหลวบวิทยาลัย นายกนก พฤติวทัญญู เจ้าของรางวัลชมเชยการแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับประเทศของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ฯ และนางสาวปารวีร์ เล็กประเสริฐ เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาชีววิทยาประเภททีม ของ ม.เกษตรศาสตร์ และรางวัลชนะเลิศการตอบปัญหาวิชาการต่าง ๆ หลายรางวัล
ทั้งนี้มี ผ.ศ.ดร.ปิติวงศ์ ตันติโชดก จากมหาวิทยาลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าทีม ผศ.ดร.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นรองหัวหน้าทีม และนายชูศิลป์ อัตชู หัวหน้าสาขาชีววิทยา สสวท.เป็นผู้จัดการทีม
สาวน้อยธนิสรา จันทร์สกุล สืบทอดความเก่งของพี่ชาย และด้วยความสนใจในด้านชีววิทยา ในวันนี้ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิก จากที่พี่ชาย ชาคร จันทร์สกุล เคยได้เหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกปี 2541 อาจทำให้ธนิสราเกิดอาการเกร็งบ้าง แต่ก็มีข้อดีตรงที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพี่ชาย ซึ่งขณะนี้กำลังเรียนแพทย์อยู่ไม่น้อย
"รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่จะได้ทำหน้าที่อันมีเกียรติ ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก ซึ่งน้อยคนจะได้รับโอกาสนี้ กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องมานะพยายามมาก เพราะต้องเข้าค่ายอบรมเข้มหลายครั้งการอบรมเข้มทำให้ได้ความรู้ด้านชีววิทยา และได้รู้จักเพื่อจากทั่วประเทศ" ธนิสรากล่าว
ส่วน ปารวีร์ เล็กประเสริฐ กล่าวว่า "ก่อนเดินทางไปแข่งขัน มีการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจและความพร้อมด้านวิชาการภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาจารย์ได้ให้ความรู้ด้านทักษะการฝึกปฏิบัติการมากขึ้น คือ ได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาใน LAB และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆด้วย" ในส่วนนี้ กนก พฤฒิวทัญญู กล่าวเสริมว่า "จากการฝึกฝนในค่ายอบรมเข้มทำให้เกิดความพร้อมมากขึ้น และสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ"
จากงานเลี้ยงส่งผู้แทนประเทศไทยที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมบางกอกพาเลส ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานบอร์ด สสวท.ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ชื่นชมโครงการนี้ที่มีส่วนกระตุ้นให้นักเรียนสนใจวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และเข้ามาสมัครสอบคัดเลือกเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเป็นจำนวนมาก การจัดส่งเด็กไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้นมีส่วนส่งเสริมและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้เต็มตามศักยภาพของแต่ละคนที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศในอนาคต"
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ได้แสดงความยินดีและชมเชยผู้แทนประเทศไทยทุกคนรวมทั้งทิ้งท้ายว่าขอส่งกำลังใจให้ผู้แทนประเทศไทยทุกคน ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยตั้งใจใช้ความรู้แก้ปัญหาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบ
การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศปีนี้ ชาวไทยจะได้ยินดีกับเหรียญทองกันหรือเปล่านั้น ก็คงต้องมาลุ้นกัน ทั้งนี้คณะดังกล่าวจะออกเดินทางในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 นี้ เวลาเที่ยงคืนห้านาที ด้วยเที่ยวบิน TG 930 โดย สสวท.จะมีพิธีส่งที่หน้าห้อง CIP สนามบินดอนเมืองก่อนออกเดินทางในเวลา 22.00 น.--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ