กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ธนาคารออมสิน
ธนาคารออมสินพา 10 ทีมสุดท้าย โครงการ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ดูงานเทคโนโลยี ที่ทันสมัย ณ ประเทศญี่ปุ่น 2-7 พ.ย. นี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริงภายใต้คอนเซ็ปต์ "ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง" ที่เพิ่งตัดสินผลการประกวดไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ขณะนี้ธนาคารเตรียมพา 10 ทีมสุดท้ายร่วมโปรแกรม Outing Startup โดยจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2-7 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยการดูงานหน่วยงานและสถานที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานธุรกิจ ประกอบด้วย
- "พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีอันทันสมัย TEPIA" โดย Association for Technological Excellence Promoting Innovative Advances (สมาคมส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันทันสมัย) เป็นสถานที่จัดแสดงเทคโนโลยีอันทันสมัยล่าสุดของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์และเครื่องผลิตมังงะที่นี่จัดแสดงเทคโนโลยีอันทันสมัยฝีมือบริษัทแห่งเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เยี่ยมชมได้เป็นอย่างดี
- "ชุมชน Biwa Club" เป็น Road Station โดดเด่นเรื่องแนวคิดการพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้า ได้รับรางวัล กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2543 ให้เป็นศูนย์บริการริมทางดีเด่นที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าและของวิสาหกิจชุมชนร่วมกัน
- Antenna Shop (OTOP) เป็นร้านค้าซึ่งรวมผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ร่ำลือจากทุกตำบลหรือจังหวัดต่างๆ มารวมไว้ให้ได้เลือกสรรกันในร้านเดียวหรือจะเรียกว่าร้าน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ซึ่งคอนเซ็ปต์หลัก คือ การรวบรวมของดีจากทุกภูมิภาคของญี่ปุ่นซึ่งหลายๆ ที่เป็นแหล่งผลิตงานฝีมือชั้นดีป้อนเข้าสู่แบรนด์ดังระดับโลก
- SMRJ Incubation Centre หน่วยงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของญี่ปุ่น SMRJ (The Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, JAPAN)เป็นองค์กรอิสระภายใต้ METI โดยเกิดจากการรวมตัวกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันวิจัยต่างๆ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Centre) เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs อาจารย์ นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ามาทำวิจัยร่วมกันและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และดูงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม (Industrial Promotion Centre: IPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่คล้ายกับ SMRJ แต่แตกต่างกันที่ IPC เป็นการสนับสนุนระดับจังหวัดขณะที่ SMRJ จะสนับสนุนระดับประเทศ
"การเดินทางครั้งนี้ยังจะได้พาน้องๆ เข้าคารวะเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับฟังนโยบายพัฒนา SMEs Start-Up ท้องถิ่นของญี่ปุ่นเรียกว่า Cool Japan ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และนโยบาย Smart City อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งนับเป็นเกียรติ และเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ของเราอย่างมาก "ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้การประกาศผลการประกวดฯ ทีมชนะเลิศคือ ทีม SHIPPOP ได้รับเงินทุนประเดิม 1,000,000 บาท, ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 1 คือ ทีม Fresh Water Shrimp Farm Ecosystem ได้รับเงินทุนประเดิม 500,000 บาท, ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2 คือ ทีม จับจ่าย ฟอร์ สคูล ได้รับเงินทุนประเดิม 200,000 บาท ส่วนรางวัลชมเชย 7 ทีม ได้รับเงินทุนประเดิมทีมละ 50,000 บาท
นอกเหนือจากเงินทุนประเดิมแล้ว ธนาคารยังสนับสนุนข้อมูลความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจ โดยการเชิญวิทยากรมาอบรมให้ข้อมูลในรอบ 100 ทีม และ รอบ 10 ทีมสุดท้าย สำหรับการเดินทางดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ยังเป็นประสบการณ์ที่มีค่าเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจในอนาคตของนักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้ง 10 สุดยอดทีม นับเป็นกำไรชีวิตที่น่าประทับใจ
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่ www.gsb100tomillion.com หรือ www.facebook.com/gsb100tomillion