กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เน้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัย ต่อยอดสู่การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา หรือเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมทางหลวง พร้อมตอบรับนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยมี นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องสัมมนาเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ ชั้น 3 กองฝึกอบรม กรมทางหลวง
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ โดยผลิตและแปรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ กรมทางหลวง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนา งานก่อสร้าง บูรณะและบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงสัมปทาน และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นองค์กรที่มีภารกิจในการบริหารจัดการและส่งเสริมการใช้ยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาและการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภารกิจกรมทางหลวง เพื่อให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เกิดนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีในการผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ตลอดจนสนับสนุนการใช้ยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวง โดยการบูรณาการร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ และการดำเนินการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ราคายางให้เกิดเสถียรภาพ สร้างความยั่งยืนทั้งระบบ และช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางและวงการยางพาราต่อไปทั้งนี้ ในปี 2561 กรมทางหลวงเตรียมแผนการใช้ปริมาณน้ำยางพาราข้น จำนวน 4,586 ตัน เพื่อใช้ในงานบูรณะซ่อมแซมผิวทาง และใช้ในงานวิจัยและพัฒนาระหว่างกรมทางหลวงและการยางแห่งประเทศไทย
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างการยางแห่งประเทศไทยและกรมทางหลวง เพื่อให้นโยบายการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะร่วมผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เพื่อให้การใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราในประเทศต่อไป โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ต่อยอดไปจนถึงกระบวนการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ตลอดจนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินภารกิจของกรมทางหลวง ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเหลือด้วยการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่งด้วย