จีนสนใจก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองรอบกรุงแต่ขอให้กทม.หาเงินทุน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 22, 2001 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.44) เวลา 09.10 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายจู หรงจี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมแชงกรีลา ในโอกาสที่ได้นำคณะมาเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ค.44
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการเข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายจู หรง จี ว่า ตนได้นำแนวคิดเรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองรอบกรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ร่วมหารือ เพื่อขอการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้ส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทที่จะมาลงทุนก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยรายงานความคืบหน้าให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.44 ที่ผ่านมา กทม. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท China Railway Construction จำกัด จากประเทศจีนในการสำรวจ และศึกษาความเป็นไปได้ของแนวเส้นทาง งบประมาณในการลงทุน ทั้งนี้ กทม.จะขอให้รัฐบาลจีนสนับสนุนบริษัทให้มาลงทุนก่อสร้างโครงการฯ ให้ทั้งหมด เมื่อเสร็จแล้ว กทม.จะเป็นผู้บริหาร เก็บรายได้จากค่าโดยสารส่งคืน ให้กับบริษัท โดยวิธีนี้จะทำให้ กทม.ไม่ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเอง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กทม.ได้หารือกับกรมทางหลวง ในเรื่องเกี่ยวกับการขอใช้ที่ดินบางส่วนเพื่อใช้เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าบริเวณตะเข็บรอยต่อของจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี ประมาณ 20-30% ส่วนเส้นทางอีก 70-80% อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จีนยินดีและพร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพราะบริษัทของจีนมีศักยภาพในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีมูลค่าลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงอยากให้กทม.ช่วยหาเงินลงทุน ส่วนจีนจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในราคาต่ำเอง อย่างไรก็ตาม ตนได้กล่าวกับนายกรัฐมนตรีฯ จีนว่า ยังไม่ต้องให้คำตอบตนในตอนนี้ แต่ให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาและรอผลการศึกษาจากบริษัท China Railway Construction ก่อนจะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้บริษัทฯ จะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมิ.ย.44 และใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือน
ต่อข้อถามของสื่อมวลชน หากจีนได้พิจารณาจากผลศึกษาของบริษัท China Railway Construction แล้วยังยืนยันที่จะให้กทม.หาเงินลงทุนเอง กทม.จะต้องปรับแนวทาง อย่างไรนั้นผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น กทม.ก็จะต้องถอยหลังกลับมาดูผลศึกษาความเป็นไปได้ และเปิดให้บริษัทที่มีความสนใจลงทุนเข้ามาดำเนินการ
สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองรอบกรุงเทพฯ นั้น จะมีความสันพันธ์กับโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายทั้ง 3 เส้นทาง โดยลักษณะความสัมพันธ์จะมีรูปแบบคล้ายกับพวงมาลัยรถยนต์ สามารถเชื่อมต่อเส้นทางกันได้สะดวก โดยมีเส้นทาง เป็นวงกลม เริ่มต้นที่ถนนบางนา-ตราด บริเวณอำเภอบางพลี ใช้เส้นทางถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออกขึ้นไปทางอำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรังสิต-นครนายก (ถนนองครักษ์) โดยใช้แนวเกาะกลางถนนเข้าสู่รังสิต ผ่านฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต แล้วใช้เส้นทางที่จะไปวัดเสด็จฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดปทุมธานี ผ่านพื้นที่ของ อ.สามโคก ผ่านศาลหลักเมือง จ.ปทุมธานี วกซ้ายลงมาผ่านสะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) จากนั้นใช้แนวเส้นทางหลวงหมายเลข 345 ผ่านบางบัวทอง เลาะเข้าถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตกมาทางบางบอน เลี้ยวเข้าถนนพระราม 2 ลงมาถึงแยกบางปะกอก แยกบุคคโล ข้ามสะพานกรุงเทพ แล้วก่อสร้าง เป็นทางยกระดับบนกลางถนนพระราม 3 ผ่านช่องนนทรี คลองเตย เลาะเข้าข้างถนนทางด่วน ผ่านข้าง ๆ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วใช้เส้นทางของรถไฟสายเก่าผ่านกรมสรรพาวุธ บริเวณบางนา เลี้ยวเข้าไปทางสำโรง แล้วไปบรรจบที่บริเวณอำเภอบางพลี สำหรับเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้จะใช้แนวพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ และจะก่อสร้างโครงการฯ แบบทางยกระดับบริเวณที่ผ่าน ในเมืองเท่านั้น--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ