กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--Department of Dramatic Arts, Chulalongkorn University
"สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ"
(Bangkok Notes)
ละครเวทีความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ โอริสะ ฮิราตะ
การแสดงเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2560
ละครเวทีร่วมสมัยที่สร้างความประทับใจมาแล้วทั่วโลก
[สถานที่] ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[วันและเวลา] วันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ที่ 2 – 4 และ 9 -11 พฤศจิกายน 2560
เวลา 19.30 น. (วันเสาร์เพิ่มรอบบ่ายเวลา 14.00 น.)
*รอบปฐมทัศน์ วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 พร้อมพิธีเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2560*
[ราคาบัตร] 600 บาท (นักเรียน นักศึกษา 300 บาท
ศิลปินและผู้ชมอายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท)
จองบัตรที่ www.BangkokTheatreFestival.com
หรือ 08 1559 7252 และ 0 2218 4802
*แสดงเป็นภาษาไทย มีคำแปลภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษฉายประกอบ*
ละครร่วมสมัยที่ประทับใจผู้ชมมาแล้วในหลายภาษาทั่วโลก
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ โครงการศิลปะการละครนานาชาติ (World Performances @ Drama Chula) ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภูมิใจนำเสนอ ละครเวทีความร่วมมือไทยญี่ปุ่น "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") เขียนบทและกำกับการแสดงโดย ศาสตราจารย์ โอริสะ ฮิราตะ (Prof. Oriza Hirata) นักการละครผู้มีอิทธิพลต่อวงการละครญี่ปุ่นและทั่วโลก นอกจากนี้ "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ยังเป็นกิจกรรมในวาระครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจากเครือข่ายละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Network) ให้เป็นการแสดงเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2560 (Bangkok Theatre Festival 2017: "Sharing Moments") ในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมลอีกด้วย
ละคร "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") ดัดแปลงบทจาก "Tokyo Notes" ("โตเกียว โน้ตส์") ซึ่งบรรยายให้ผู้ชมได้เห็นการค่อยๆ สลายตัวของความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ละครเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติ "Tokyo Notes" ("โตเกียว โน้ตส์") ได้รับการแปลมาแล้ว 10 ภาษา และจัดแสดงมาแล้ว 23 เมือง ใน 16 ประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโครงการละครความร่วมมือระหว่างประเทศมาแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ "Seoul Notes" ณ ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2546 "Taipei Notes" ในเทศกาล Taipei Arts Festival ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (บัตรจำหน่ายหมดทุกใบภายใน 2 ชั่วโมง) "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") ในเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ และ "Manila Notes" ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปีหน้า
เพื่อให้ "สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") สื่อสารแก่นความคิดและสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมชาวไทยอย่างเต็มที่ อาจารย์ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ นักเขียนบทละครเวทีและโทรทัศน์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ปรับบริบทเรื่องราวและบทสนทนาให้มีความเป็นละครเวทีไทย และศาสตราจารย์ โอริสะ ฮิราตะ ได้คัดเลือกนักแสดงมืออาชีพชาวไทยกว่า 20 คนมาร่วมแสดง ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จากหลากหลายคณะละคร เช่น สุมณฑา สวนผลรัตน์ (จุ๋ม) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปี 2555 ดวงใจ หิรัญศรี (เพียว) คณะละครอนัตตา ธีรวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor เจ้าของรางวัล Bangkok Theatre Festival Award สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม ปี 2557 ณัฐ นวลแพง ผู้ก่อตั้งคณะละครเสาสูง และ วรัฏฐา ทองอยู่ (แอน) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปีที่แล้ว เป็นต้น
"สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ" ("Bangkok Notes") จึงนับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญอีกครั้งของคณะละครเวทีของไทยด้วยความสนับสนุนของเจแปนฟาวน์เดชั่น หลังจากละครเวทีเรื่อง "ยักษ์ตัวแดง" ("Akaoni") เมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้เกิดการก่อตั้งเครือข่ายละครกรุงเทพและเทศกาลละครกรุงเทพในเวลาต่อมา และละครเวทีเรื่อง "สาวชาวนา" ("Nogyo Shojo") เมื่อปี 2552 ซึ่งจัดแสดงทั้งที่เทศกาลละครกรุงเทพและ Festival/Tokyo
ข้อคิดเห็นจากศาสตราจารย์โอริสะ ฮิราตะ
ดังที่เห็นได้จากชื่อเรื่อง(ดั้งเดิม) ผมได้ความคิดเรื่อง "โตเกียว โน้ตส์" มาจากภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง "โตเกียว สตอรี่" ของยาสุจิโร โอสุ ในเรื่องของโอสุนั้น แต่ละฉากในภาพยนตร์แสดงภาพพ่อแม่สูงวัยเข้ามาเยี่ยมลูกๆ ในกรุงโตเกียว ในขณะที่ "โตเกียว โน้ตส์" แสดงให้เห็นการมารวมตัวกันที่ล็อบบี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะของพี่น้องที่แยกย้ายกันอยู่ในโตเกียว เมื่อพี่สาวที่ชื่นชอบงานศิลปะของพวกเขาเดินทางจากบ้านเกิดมาเยี่ยม ปกติแล้วพี่น้องแต่ละคนจะมีชีวิตและปัญหาต่างๆ ต่างกันไป แต่ตอนนี้สิ่งเดียวที่พวกเขากังวลร่วมกันก็คือการดูแลพ่อแม่ที่อายุมาก ในขณะที่เหตุการณ์ที่หอศิลป์ดำเนินไป ก็มีการสอดแทรกเรื่องของสงครามใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป อย่างไรก็ตาม ผู้ชมนิทรรศการที่นี่ต่างก็ดูเหมือนจะสนใจแต่ชีวิตและปัญหาของตนเองเท่านั้น
ละครได้มีการดัดแปลงให้สะท้อนภาวะไม่มั่นคงของจิตใจมนุษย์ ผลงานชิ้นนี้อาจจะเป็นความพยายามเปิดเผยช่วงเวลาของความรู้สึกนั้น ผมหวังให้ผู้ชมได้เห็นแรงสั่นสะเทือนภายในของสองสิ่ง คือ ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างประเทศ และความแตกแยกในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของคนในยุคทศวรรษ 1990