กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับขอนแก่นสังคมไร้เงินสด 4.0(Khon Kean Cashless Society 4.0) และขอนแก่นสมาร์ทซิตี้(KHON KEAN Smart City) เพื่อศึกษาและพัฒนา สนับสนุนให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองอัจฉริยะ และพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่สังคมไร้เงินสดที่สมบูรณ์แบบ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้(31 ตุลาคม) ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทางธนาคารได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่สังคมไร้เงินสด 4.0 และภาคเอกชน คือ บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) และบริษัท จัมป์อัพ จำกัด ในโครงการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ(Khon Kaen Smart City) โดยพิธีดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายด้าน National e-Payment ของภาครัฐ และสอดคล้องแผนแม่บทของสมาร์ทซิตี้จังหวัดขอนแก่น ธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ให้บริการจัดการทางการเงินผ่านระบบ KTB Digital Platform เช่น การออกบัตรเงินสดอิเล็กทรอนิกส์(e-Money Card) การรับชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร(Debit& Credit Card) ผ่านเครื่องรูดบัตร EDC (Electronic Data Capture Device) การรับชำระเงินด้วย QR Code ผ่านอุปกรณ์ Smart Device เป็นต้น เพื่อมุ่งเน้นการลดการใช้เงินสด ลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการบริหารจัดการเงินสด
ที่ผ่านมากรุงไทยในฐานะธนาคารของรัฐได้ให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนนโยบาย Cashless society ของรัฐ อย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการเข้าถึงและความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงของประชาชนทุกภาคส่วน เช่น การให้บริการพร้อมเพย์ การสนับสนุนการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้ง ธนาคารได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น "เป๋าตุง" และให้บริการรับชำระเงินด้วยระบบ QR Code ทำให้การซื้อ-ขาย สะดวกสบาย และ ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
" ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่สังคมไร้เงินสดที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไร้เงินสดต่างๆ ของกรุงไทยจะช่วยเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงิน และทำให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตไปในอนาคตอย่างแข็งแรงและมั่นคง"