กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--PwC ประเทศไทย
PwC คาดปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จะส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจและรูปแบบการทำงานของมนุษย์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เชื่อว่าจะยังไม่สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้เต็มร้อย โดยประเมินโลกของการทำงานและผลกระทบที่จะมีต่อแรงงานในปี 2573 ออกเป็น 4 รูปแบบ พร้อมมององค์กรและบุคลากรของไทยยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ดีพอ แนะต้องเริ่มเรียนรู้และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของบุคลากร หลังเทคโนโลยีรุกคืบการทำธุรกิจในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
นางสาว ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Workforce of the future: the competing forces shaping 2030 ที่ได้ทำการสำรวจประชากรจำนวน 10,000 คนในสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาว่า ในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแรงงานมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแนวโน้มของรูปแบบการทำงานในปี 2573 จะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีความซับซ้อนและแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่การกำกับดูแลและกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ จะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะนำมาบังคับใช้กับภาคธุรกิจ สังคม และแรงงานมนุษย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานที่ทำงาน
นางสาว แครอล สตับบิงส์ หุ้นส่วนและหัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า แม้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้ถูกสำรวจ โดย 37% รู้สึกตื่นเต้นกับโลกของการทำงานในอนาคต แต่ก็ยังแสดงความกังวลว่า ระบบอัตโนมัติจะส่งผลให้งานในบางตำแหน่งเกิดความเสี่ยง เห็นได้จาก 37% ของผู้ถูกสำรวจกังวลว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานของพวกเขา เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่ 33% และยังมีผู้ถูกสำรวจมากกว่าครึ่งที่คิดว่า หน่วยงานภาครัฐควรหามาตรการช่วยเหลือและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
"ความเป็นจริงที่ว่า 'การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด' ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานแล้ววันนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เห็นได้จากรายงานของเราที่ 60% ของผู้ถูกสำรวจเชื่อว่า ในระยะต่อไปจะมีพวกเราเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีการงานที่มั่นคงและยืนยาวไปตลอด เพราะเดี๋ยวนี้คนต่างต้องมองหาและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ทุกๆ 2-3 ปี เพื่อนำมาเสริมทักษะเดิมที่มีอยู่ และยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะส่วนบุคคลในด้านอื่นๆ เช่น การบริหารความเสี่ยง ภาวะความเป็นผู้นำ และการบริหารจัดการอารมณ์ของตนด้วย"
รายงานระบุว่า โดยทั่วไปแล้วผู้ถูกสำรวจส่วนใหญ่ หรือ 65% เชื่อว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยปรับปรุงแนวโน้มการทำงานให้ดีขึ้น โดยผู้ถูกสำรวจจากสหรัฐอเมริกา และอินเดีย มีความมั่นใจเกี่ยวกับประเด็นนี้มากกว่าผู้ถูกสำรวจจากสหราชอาณาจักร และเยอรมนี แต่ก็ชี้ด้วยว่า 74% ของผู้ถูกสำรวจพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม หรือได้รับการฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ตนตกงานในอนาคต โดยมองว่า การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลมากกว่าของนายจ้าง และ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการทำงานจะช่วยสนับสนุนให้พนักงานสามารถก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่มีผลต่อการทำงานและงานที่พวกเขารับผิดชอบ แต่อย่างไรก็ตาม 3 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจทั้งหมด ยังคงมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีไม่มีทางที่จะมาทดแทนความคิดของมนุษย์ได้ ขณะที่ 86% บอกว่า ทักษะของมนุษย์จะยังคงเป็นที่ต้องการในที่สุด
เปิดโลกการทำงาน 4 แบบในอนาคต
ทั้งนี้ รายงานของ PwC ได้แบ่งลักษณะของโลกการทำงานในปี 2573 ออกเป็น 4 รูปแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโลกการทำงานที่อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นผลมาจากอิทธิพลของเมกะเทรนด์ เอไอ ระบบอัตโนมัติ และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล (Machine learning) รวมถึงตั้งคำถามด้วยว่า กำลังแรงงานจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ รวมทั้งเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของแต่ละภาคส่วนอย่างไร ดังนี้
โลกสีเหลือง (The Yellow World) เป็นโลกที่มนุษย์มาเป็นอันดับแรก (Humans come first) โดยความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า ขณะที่เรื่องของจรรยาบรรณ (Ethics) และความน่าเชื่อถือจะนำหน้ากระแสเงินทุน ภาคสังคมจะมีความเป็นเอกภาพและมีความสัมพันธ์กัน ในขณะที่นักคิดค้น นักประดิษฐ์ และกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายและทักษะจะประสบความสำเร็จโดยมีเทคโนโลยีเป็นทั้งตัวช่วยและความท้าทาย
โลกสีแดง (The Red World) คือโลกที่เป็นแหล่งฟูมฟักนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation rules) โดยรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถควบคุมได้ ทำให้เป็นโลกที่การดำเนินธุรกิจเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่มนุษย์และนวัตกรรมจะอยู่อย่างแยกขาดกันไม่ได้ ในขณะที่เทคโนโลยีอาจกระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ทำให้สังคมเชื่อมต่อกันอย่างไร้ขีดจำกัด ภาคธุรกิจในโลกสีแดงจะแข่งกันคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์ตลอดเวลา เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เรียกว่าเป็นโลกที่ทุกอย่างก้าวไปอย่างรวดเร็วแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงรอบด้าน
โลกสีเขียว (The Green World) เป็นโลกที่ภาคธุรกิจดูแลเอาใจใส่ (Companies care) และให้ความสำคัญกับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยเป้าหมายสำคัญขององค์กร คือการสร้างไว้วางใจต่อสังคม เป็นโลกที่คนต้องการทำงานกับองค์กรที่ตนมีความเชื่อ วัฒนธรรมองค์กร และค่านิยมที่ตรงกัน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนจะถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ
โลกสีน้ำเงิน (The Blue World) เป็นโลกที่ระบบทุนนิยม คือ "พระเจ้า" (Corporate is king) โดยบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับการสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรของตนเอง โดยเชื่อว่าจะเป็นหนทางสู่การสร้างผลกำไรที่เหนือคู่แข่งทั้งเก่าและใหม่ ถือเป็นโลกที่ "ขนาด" มีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจในทุกๆ ด้าน ในขณะที่ทาเลนต์ที่มากความสามารถจะเป็นที่ต้องการสูงของนายจ้างและจะได้รับผลตอบแทนสูงเช่นกัน ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติและเอไอที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
นาย จอน วิลเลียมส์ หุ้นส่วน และหัวหน้าร่วมสายงานทรัพยากรบุคคลและองค์กร บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า "รายงานได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แต่ละโลกของการทำงานในอนาคตใน 4 รูปแบบจะมีความแตกต่างกันอย่างไร และยังบอกถึงผลกระทบที่มีต่อการทำงานในปัจจุบันด้วย แต่ก็แน่นอนว่า ไม่มีใครสามารถรู้แน่ชัดได้ว่าโลกในการทำงานในปี 2573 จะเป็นอย่างไร แต่เราเชื่อว่า คงหนีไม่พ้นที่จะต้องออกมาในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่งจากสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เอไอกับการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล จะช่วยให้เราสามารถวางแผนเรื่องกำลังคนได้ดียิ่งขึ้น โดยองค์กรและพนักงานที่เข้าใจตรงจุดนี้ควรรีบเตรียมรับมือและวางแผนอนาคตไว้ล่วงหน้าเพื่อเดินไปสู่ความสำเร็จตั้งแต่เนิ่นๆ"
"อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวล ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำลายความเชื่อมั่นและความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้ อย่างที่กล่าวไปว่าพนักงานส่วนใหญ่ยังมีความเป็นห่วงว่า ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแย่งงานของตนในอนาคตจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ทุกฝ่ายควรเริ่มหันมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างจริงจัง เพื่อเข้าใจภาพรวมของผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งเตรียมความพร้อม และเพิ่มทักษะที่จะเป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและองค์กรเพื่อเป็นการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การทำงานในอนาคต และต้องไม่ประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ต่ำเกินไป" นาย จอน กล่าว
ด้าน นางสาว ภิรตา กล่าวต่อว่า "ปัจจุบันองค์กรและบุคลากรของไทยยังไม่มีความตื่นตัวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะเข้ามากระทบการทำงานของพวกเขาดีพอ โดยองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพราะอาจมองว่าไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาด้านต้นทุน แต่อย่างไรก็ดี มีองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งที่เริ่มตื่นตัวและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการบุคลากร เช่น การนำเอาระบบอัตโนมัติ หรือ ออโตเมชั่น มาทดแทนงานบางประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ หรืองานที่มีอัตราการลาออกของพนักงานสูง นอกจากนี้ ยังมีการทดลองนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อช่วยสอนทักษะบางอย่างให้แก่พนักงานใหม่ด้วย
"ในอีก 10 ปีข้างหน้า นวัตกรรมจะเข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากต้นทุนด้านเทคโนโลยีจะถูกกว่าปัจจุบันมาก เช่นเดียวกับกฎระเบียบต่างๆ ของภาครัฐที่จะถูกปรับให้เอื้อกับพัฒนาการของนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น องค์กรและบุคลากรของไทยจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม โดยผู้นำองค์กรต้องเริ่มศึกษาและนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจและกระบวนการทำงานภายในองค์กร ขณะที่บุคลากรไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น ทักษะในการคิดวิเคราะห์ หรือ Analytical skills อย่างไรก็ดี ยังมองว่า การบริหารจัดการงานที่ซับซ้อน หรืองานที่ต้องการการตัดสินใจเชิงลึกจะยังคงเป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ"