กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องโถง ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) โดยสำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ จัดงานวันสถาปนา สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ โดยมี นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยนางแน่งน้อง เวทพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะผู้บริหาร และผู้เกียณราชการที่เคยปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจุบันครบรอบ 80 ปี มุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยสำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ มุ่งมั่น เพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะของบุคลากร ให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้ง กฎ ระเบียบ ต่างๆ ของโลก เป็นการยกระดับความสามารถของบุคลากรในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมคุณภาพของสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งผลกำไรจากสินค้าและบริการได้มากขึ้นจะทำให้บุคลากรได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไป
ในพ.ศ.2480 ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ให้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ สังกัดกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์ เพื่ออบรมบุคลากรให้มีความรู้ในวิชาเคมีทางปฏิบัติ สามารถเข้ารับราชการในกรมวิทยาศาสตร์ และที่อื่นๆ ของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิชาโดยเปิดหลักสูตร 2 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ได้ขยายหลักสูตรเป็น 3 ปี และจะได้รับประกาศนียบัตรจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ เทียบเท่าอนุปริญญา และในปี พ.ศ. 2502 ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาจะได้รับอนุปริญญาเคมีปฏิบัติ และสามารถเข้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ถึงปีการศึกษา 2546 กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ปรับบทบาทและภารกิจ เพื่อสนองนโยบาย และให้สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการจึงงดรับนักศึกษาใหม่ นักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548
ทั้งนี้สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการมาพัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรอบรมดังกล่าวประกอบด้วยการบรรยายในห้องอบรม การฝึกปฏิบัติงานจริง ทั้งในส่วนของเทคนิคการวิเคราะห์ทางด้านเคมี ชีววิทยา การสอบเทียบเครื่องมือวัด ตลอดจนฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง ทำให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานได้จริงต่อไป