ส.อ.ท. จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ข่าวทั่วไป Friday October 14, 2005 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ธุรกิจพลังงานทดแทน 5 สาขา พลังงานแสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ และพลังงานลม น้ำ ไฮโดรเจน รวมตัวตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 34 ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางร่วมมือรัฐวางยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของประเทศรองรับความต้องการใช้ในอนาคต
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขึ้น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 34 ของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองามเป็นประธานในพิธีสถาปนาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนว่า จากสถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานของประชาคมโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นตามจำนวนประชากร จนหลายฝ่ายประเมินว่าหากยังมีการใช้พลังงานในปริมาณปกติดังเช่นในปัจจุบัน พลังงานธรรมชาติจากปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จะหมดไปจากโลกภายใน 50 ปีนั้น ได้เป็นแรงกระตุ้นให้ทุกประเทศทั่วโลกเริ่มวางแนวทางประพยัดพลังงานควบคู่กับการจัดหาพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานของประเทศไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งระบบ ได้เป็นเหตุให้สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนสามารถดำเนินการไปได้อย่างคล่องตัว เห็นความจำเป็นของการจัดหาและการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืน จึงจัดให้มีการตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ มีโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้ยิ่งขึ้น รวมทั้งให้กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อวางยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของประเทศให้มีศักยภาพสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจไทย ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาห-กรรมพลังงานทดแทนไทยให้พร้อมแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้
ทั้งนี้ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีทั้งสิ้น 25 ราย มีนายพิชัย ถิ่นสันติสุข บริษัท รอยัลมอเตอร์เวอร์ค จำกัด นายไพบูลย์ เฉลิมชัยวินิจกุล บริษัท พี แอนด์ เอส ดีไซน์ จำกัด นายเจริญ พรพิทักษ์ชัยกุล บริษัท โอพีเอส โมบาย ออดิโอ จำกัด และนายภาณุ ถนอมวรสิน บริษัท ไทยเอเย่นซีเอ็นยีเนียริ่ง จำกัด เป็นคณะผู้ก่อตั้ง โดยสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ประกอบด้วยผู้ประกอบการจากธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) 2.กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuels) 3.กลุ่มพลังงานชีวมวล (Biomass) 4.กลุ่มพลังงานก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) 5.กลุ่มพลังงานลม น้ำ ไฮโดรเจน อื่นๆ รวมทั้งผู้ผลิตเครื่องจักร และเจ้าของเทคโนโลยีสำหรับพลังงานทดแทน
สำหรับผลการเลือกตั้งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนพบว่า นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ และได้เปิดเผยแนวทางในการดำเนินกิจกรรมภายหลังเสร็จสิ้นการจัดตั้งกลุ่มขึ้นอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มจะเร่งรวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้เข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวทางแก้ไขอุปสรรคในการประกอบอุตสาหกรรมนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้แผนงานดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศมีทิศทางสอดรับไปในแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้ในอนาคตไทยสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ในส่วนกลุ่มพลังงานจากแสงอาทิตย์ ผู้ประกอบการเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์ประมาณ 30 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการโซลาร์โฮมประมาณ 24 เมกะวัตต์ และตามที่กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายเพิ่มการใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็น 250 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ.2554 ประกอบด้วยการใช้งานในชนบท การติดตั้งบนหลังคาของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ การออกมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนติดตั้ง และมาตรการบังคับให้โรงไฟฟ้าใหม่ต้องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดตลาดของเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2548 - 2554 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 - 50,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ภาคเอกชนได้ขยายลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อรองรับโครงการดังกล่าว และพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในการดำเนินกิจกรรมตามแผนงานทุกด้านอย่างเต็มที่
กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพกล่าวถึงสถานการณ์การดำเนินงานของผู้ประกอบการไบโอดีเซลว่า ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขโดยเร่งด่วน เช่น
- วัตถุดิบ (ปาล์มน้ำมันและสบู่ดำ) ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งควรเร่งพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุตเกษตรกรผู้ปลูก และอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เฉพาะในระยะแรกที่ผลผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ
- โครงสร้างต้นทุนราคาไบโอดีเซลในปัจจุบันที่ 16-17บาท/ลิตร เป็นราคาที่ไม่เป็นจริงในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากยังมิได้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ซึ่งควรมีการกำหนดสูตรราคาไบโอดีเซลโดยอ้างอิงต้นทุนวัตถุดิบตามกลไกตลาด เพื่อให้สะท้อนราคาที่แท้จริง ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
- ภาครัฐยังขาดความชัดเจนในการกำหนดมาตรการสนับสนุน เช่น ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คุณภาพของไบโอดีเซล และสัดส่วนที่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซล ซึ่งต้องเป็นระดับที่ได้รับการยอมรับจากผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค รวมทั้ง ไม่มีการรับประกันราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันหรือสบู่ดำ หรือกำหนดโครงสร้างราคาไบโอดีเซลที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปไบโอดีเซล
กลุ่มพลังงานก๊าซชีวภาพ ผู้ประกอบการเห็นว่า รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักและผลิตพลังงานในรูปแบบ ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับประเทศเกษตรกรรมอุตสาหกรรมอย่างไทย โดยทุกภาคการผลิตและครัวเรือนสามารถผลิตเองได้จากของเหลือทิ้งที่เป็นวัสดุชีวภาพ เช่น มูลสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์ผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้า น้ำทิ้งของโรงงานแป้งมันและขยะมูลฝอยชุมชนผลิตความร้อนและไฟฟ้า
สำหรับกลุ่มพลังงานลมและไฮโดรเจน ผู้ประกอบการเห็นว่า รัฐควรส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบให้มีความคุ้มค่าในการลงทุนเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต โดยในส่วนพลังงานลม เนื่องจากความเร็วลมในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยค่อนข้างต่ำและมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบกังหันลมเฉพาะสำหรับประเทศไทย ขณะที่พลังงานไฮโดรเจนยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในระดับต้นแบบ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการพัฒนาไปสู่การใช้เชิงอุตสาหกรรม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0 2345 1000 ต่อ 1017 1013--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ