กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ไลฟ์เซ็นเตอร์
การรับประทานอาหารที่ดีคือการเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ควรเป็นอาหารที่ซ้ำๆกัน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ในแต่ละมื้อควรกินให้ครบ 5 หมู่ และควรเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือเรียกว่าเป็นอาหารซุปเปอร์ฟู้ดส์ ซึ่งจะอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่หลากหลายชนิด ทำให้อิ่มอร่อยครบจบในจานเดียว แพทย์แผนไทย รินทร์ธนัน จิตต์จงธรรม เจ้าของร้าน Ariya Organic Place ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ความหมายของ ซุปเปอร์ฟู้ดส์ว่า คือ อาหารที่รับประทานแล้วมีประโยชน์ให้สารอาหารที่ดีต่อร่างกาย และต้องเป็นอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ไร้สารพิษ เมื่อร่างกายได้รับอาหารนั้นแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะขอแนะนำ 10 เมนูอาหารที่คุณรู้จักและคุ้นเคยอยู่แล้ว นำมาปรับเปลี่ยนการรับประทานให้ถูกวิธีก็สามารถเป็นเมนูซุปเปอร์ฟู้ดส์ได้ง่ายๆ คือ
1. ข้าวยำปักษ์ใต้ เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีแหล่งที่ดีของใยอาหารอย่างส้มโอ และผักหลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วงอก แตงกวา พริกขี้หนู มะนาว อีกทั้งยังมีคุณค่าทางสมุนไพร จากใบมะกรูด หัวหอมแดง ใบช้าพลู ตะไคร้ เสริมรสชาติด้วยมะพร้าวคั่วหั่นฝอย นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันกับน้ำบูดู ที่ได้จากการหมักปลาตัวเล็กๆ กับเกลือ เปลี่ยนจากข้าวขาวธรรมดา มาเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้อาหารอร่อยมากไปด้วยคุณภาพอีก 1 มื้อครบ 5 หมู่ ที่เพียงพอต่อร่างกาย และดีต่อระบบขับถ่ายทำให้ไม่เป็นโรคท้องผูก
2. ข้าวกับน้ำพริกปลาทู เป็นเมนูนิยมมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ถือว่าเป็นเมนูที่ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้คนสมัยก่อนแข็งแรง และไม่ค่อยเจ็บป่วย เมนูนี้มี วิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุจากผัก และสมุนไพร ส่วนใหญ่จะนำผักจำนวนมากทั้งดิบ และต้มมาจิ้มน้ำพริก รับประทานพร้อมข้าวร้อนๆ กับปลาทูย่าง หรือทอด ข้อดีของปลาทู คือมีโอไมก้า 3 แต่ในสมัยนี้ซึ่งเป็นยุคดิจิตอล จึงขอแนะนำให้คุณหุงข้าวเป็นข้าวกล้อง เพื่อสุขภาพทางระบบปลายประสาท และบำรุงสมอง จากเดิมที่เป็นข้าวขัดสี
3. ข้าวคลุกกะปิ เพื่อสุขภาพนั้นต้องแปลงส่วนประกอบ เปลี่ยนหมูหวาน กุนเชียงทอด และไข่เจียวเป็นไข่ต้ม กุ้งทอดเป็นกุ้งบดละเอียด เพื่อช่วยในเรื่องการเคี้ยวให้ง่ายขึ้น ส่วนข้าวขาว เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ นอกนั้นใส่เหมือนเดิม การเน้นเครื่องเคียงที่มีถั่วฝักยาวหั่นละเอียด หอมแดง มะม่วงซอย และแตงกวานั้น จะช่วยให้รสชาติอร่อยมากขึ้น ข้าวคลุกกะปิต้องไม่เค็มเกินไป ให้ระวังรสเค็มซึ่งทำให้ไตทำงานหนักเป็นอันตราย หากอยากได้รสหวานให้ใส่น้ำตาลอ้อยบดละเอียดลงไปทีละนิดคลุกให้เข้ากันเพื่อเพิ่มความอร่อย
4. สลัดโรล ทำได้หลากหลายอย่าง แต่เพื่อสุขภาพคุณอาจเปลี่ยนจากแผ่นแป้งเป็น แครอท หรือไชเท้าสไลด์เป็นแผ่นบาง ส่วนด้านในเป็นผักสลัดใบอ่อนเพื่อการม้วนที่ง่ายขึ้น พร้อมแตงกวา หรือแตงซูกินี่ แครอทหั่นท่อนเล็กๆ เพื่อสะดวกต่อการบดเคี้ยว แล้วไส้ด้านในอาจเป็นปูอัด ปลาทูน่า หรือปลาแซลมอน เสริฟพร้อมน้ำจิ้ม 3 รส ที่มีรสชาติไม่เผ็ดมาก จะได้ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เมนูนี้ทำให้ร่างกายสดชื่น บำรุงสมอง ควบคุมน้ำหนัก ง่ายต่อการรับประทาน
5. ยำส้มโอ ถ้าจะให้อร่อยมีประโยชน์ ต้องยำส้มโอโบราณ ที่ประกอบไปด้วยเครื่องสมุนไพร น้ำพริกเผา พร้อมน้ำมะนาวสดๆที่หอมกลิ่นเปลือกมะนาว และน้ำตาลมะพร้าวที่หอมละมุน ใส่พริกขี้หนูสวนสักนิดเพิ่มรสชาติชูรสขึ้นมาอีกหน่อย นำเครื่องปรุงมาละลายใส่น้ำพริกเผา เมื่อเข้ากันนำไปคลุกกับส้มโอ กุ้งสดลวกสุก เพิ่มถั่วหิมพานต์บดละเอียด หัวหอมแดง กระเทียมเจียว และขาดไม่ได้ คือ กุ้งแห้งบดละเอียดโรยหน้า เสริฟพร้อมใบช้าพลู เพื่อปรับธาตุให้สมดุล เมนูนี้ป้องกันหวัด และช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี
6. แกงส้ม ต้องเป็นสูตรโบราณ แกงส้มผักบุ้งไทย กับ ปลาช่อนนา สูตรนี้ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีวิตามินซีมาก ลดไขมันในเส้นเลือด โดยนำปลาช่อนนามาต้มสุก แล้วแกะเอาแต่เนื้อปลา มาโขลกกับพริกแกงส้ม ที่ประกอบไปด้วย พริกแห้ง กระเทียม หัวหอมแดง กระชาย กะปิ ต้มกับน้ำดื่มสะอาด เมื่อสุกแล้วใส่ผักบุ้งไทย เติมน้ำมะขาม น้ำปลาชั้นดี พร้อมเสริฟ หรือจะเพิ่มรสชาติหวานจากเนื้อกุ้งสดด้วยก็ได้
7. ต้มยำ เพิ่มโอไมก้า 3 บำรุงสมอง ด้วยต้มยำปลาทู เมนูนี้ขอนำเสนอปลาทูสดแม่กลอง "หน้างอ คอหัก " ตัวขนาดปานกลาง นำมาต้มยำใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมหัวแดง พริกขี้หนูสวน และน้ำมะนาวสด เติมด้วยใบกระเพรา เพิ่มรสชาติ ขับลมในลำไส้ ทานได้ทั้ง 3 ฤดู เป็นเมนูพื้นบ้าน ต้านโรค
8. ผัดไทย ผัดไทยไร้น้ำมัน เปลี่ยนจากเส้นจันทน์ เป็นวุ้นเส้นถั่วเขียวเกษตรอินทรีย์ นำมาแช่น้ำให้นิ่ม แล้วคลุกด้วยน้ำมะขาม น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลาชั้นดี ใส่ลงในกระทะไฟอ่อน เติมน้ำตามลงไปทีละนิดให้เส้นสุก แล้วตามด้วยไข่ไก่ กุ้งสด ถั่วงอก กุ้ยฉ่าย และเครื่องปรุงจนได้รสอร่อย นำขึ้นใส่จานเสริฟพร้อมถั่วลิสงคั่วสุก พริกป่น มะนาวสด ผัดไทยไร้น้ำมันจานนี้ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
9. น้ำสมูทตี้เพื่อสุขภาพ เป็นที่นิยมกันมากขึ้น คือ น้ำปั่น ที่เรียกกันว่า สมูทตี้ ตามท้องตลาดจะมีส่วนผสมของผลไม้ไม่มาก ใส่โยเกิร์ตบ้าง นมเปรี้ยวบ้าง แล้วเติมน้ำเชื่อมกับน้ำแข็งลงไปเท่านี้ ดังนั้นจึงขอเติมส่วนประกอบเพื่อสุขภาพเข้าไปอีกหน่อย หากคุณทำเองที่บ้านให้ลองใส่ผักสลัด หรือใบบัวบกลงไป เพื่อเพิ่มกากใย โปรตีน และวิตามินที่มีอยู่ในผักแต่ละชนิด จะทำให้สุขภาพดีขึ้น ระบบขับถ่ายก็ดีตามมาด้วย
10. ของหวาน เป็นตัวแปรสำคัญของสุขภาพ เพราะเมื่อคุณรับประทานอาหารเสร็จแล้วมักจะตามด้วยของหวาน ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นไอศครีม วุ้นกะทิ ของหวานที่ต้มกับกะทิ หรือน้ำแข็งใส ใส่น้ำเชื่อม น้ำหวาน เหล่านี้ล้วนทำให้อ้วน เพียงคุณเปลี่ยนเมนูของหวานเป็นเมนูสุขภาพด้วยผลไม้ที่มีรสไม่หวานมากไม่มีแป้งเยอะ หรือต้มธัญพืชกับน้ำตาลโอวถึ้งใส่ขิง เพื่อขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อย เพิ่มน้ำมันในข้อจะดีต่อสุขภาพมากกว่าการทำร้ายสุขภาพ
**ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละน้อย เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้าคะ**