กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ซีพี ออลล์
"อุทยานการเรียนรู้แห่งยุวเกษตรกรรม" โรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม สนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ หรือCONNEXT ED เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ดึงจุดแข็งด้านเกษตรกรรมที่มีในชุมชนให้เยาวชนได้ "เรียนรู้ รักษา และพัฒนาต่อยอด" เกิดเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเยาวชน และชุมชนอย่างยั่งยืน
นายประหยัด ทัพธานี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน กล่าวถึงการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการโรงเรียนประชารัฐว่า หลังจากโรงเรียนได้รับคัดเลือกจึงได้วางแผนร่วมกับผู้นำรุ่นใหม่ในการพัฒนาการศึกษาของซีพี ออลล์ หรือ School Partner คณะครู คณะกรรมการการศึกษา และผู้นำชุมชน ดึงจุดเด่นของชุมชนด้านเกษตรกรรมเกิดเป็น "อุทยานการเรียนรู้แห่งยุวเกษตรกรรม" ประกอบไปด้วย 7 ศูนย์การเรียนรู้ โดยนักเรียนชั้นอนุบาล 1-2 เลี้ยงปูนาในบ่อ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลี้ยงกบ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เลี้ยงปลาดุก, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เลี้ยงไก่พื้นเมือง, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เลี้ยงไก่ไข่, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เพาะเห็ดนางฟ้าและชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง
"โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากชุมชนเป็นอย่างดี นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ อีกทั้งประโยชน์ที่นักเรียนจะได้คือประสบการณ์ ที่สามารถสร้างอาชีพที่เหมาะสมในท้องถิ่น ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนเกิดเป็นความรักความหวงแหน หากในอนาคตเด็กๆ ไม่ออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในชุมชนได้"
ด้านนายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทยกล่าวว่า โครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน CONNEXT ED เป็นโครงการภายใต้นโยบายสานพลังประชารัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชนของซีพี ออลล์ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 22 ปี ตั้งแต่ปี 2538
"หวังว่าการร่วมมือผนึกกำลังสนับสนุนโรงเรียนประชารัฐ โดยการส่งเสริมให้พนักงานซีพี ออลล์ ในนามตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ขององค์กรได้นำความรู้ ความสามารถที่มีไปต่อยอดสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กรเช่นนี้ น่าจะมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน และสังคมในทางที่ดีขึ้นได้ตามสมควร" นายธานินทร์ให้ความเห็น
ขณะที่เด็กหญิงพจมาน สว่างธนานันต์ หรือ น้องฟิน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงภารกิจในแต่ละวันว่า มีหน้าที่ดูแลปลาทับทิมในกระชังจะต้องมาให้อาหารปลาทุกๆ เช้า-เที่ยง-เย็น และคอยสังเกตว่าในบ่อมีปลาตายหรือไม่ โดยต้องเรียนรู้ปรับเปลี่ยนหาวิธีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปลาในบ่อตาย ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้ตนเองและเพื่อนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้สึกมีความสุข และสนุกที่ได้เห็นปลาค่อยๆ เติบโตจากการเลี้ยงดูของตนและเพื่อนๆ
นายอุทธา นัยติ๋บ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 รับหน้าที่ดูแลศูนย์การเรียนรู้บ่อเลี้ยงปลาดุก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บอกเล่าถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ว่า การสร้างโรงเรือนทั้ง 7 แห่งชาวบ้านได้เล็งเห็นความสำคัญที่ลูกหลานจะได้รับ จึงได้ร่วมแรง ร่วมใจช่วยกันสร้าง "อุทยานการเรียนรู้แห่งยุวเกษตรกรรม" 1 ชุมชน 1 โรงเรือน พร้อมทั้งสนับสนุนให้คนในชุมชนที่มีองค์ความรู้ และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่มาสอนเด็กๆ ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และความเข้าใจในกิจกรรมของแต่ละศูนย์การเรียนรู้
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆ จะเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนบ้านเกิดเห็นความสำคัญการทำการเกษตรของชุมชน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและองค์ความรู้ที่ตกทอดมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองต่อไปในอนาคต "
ความสำคัญของการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงการเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อฝึกให้ผู้เรียนได้ลองผิด ลองถูก ทำความเข้าใจด้วยตนเอง โดยมีครู ผู้ปกครอง คอยชี้นำแนวทางให้สามารถนำสิ่งที่ได้รับไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคต