กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการ องค์การมหาชน และองค์การระหว่างประเทศ จัดประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ หัวข้อ "การบูรณาการเพื่อการพัฒนาภาควิชาการและประชาชน สู่ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมสุจริตอย่างยั่งยืน" ในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.00 – 16.30 น. ณ ห้องภาณุรังสีบอลรูม โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
ภายในงานได้รับเกียรติจากนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวปาฐกถานำเรื่อง "การสร้างสังคมสุจริต สู่การยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย" ต่อด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวทางการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)" โดย Ms.Natalai Soebagjo ผู้แทน (Transparency International-TI) และการอภิปรายเรื่อง "สังคมสุจริตเป็นไปได้หรือสำหรับประเทศไทย : เสียงจากประชาชนถึงรัฐ"
ในช่วงบ่าย มีการจัดสัมมนากลุ่มย่อย แบ่งเป็น 2 ห้อง 4 หัวข้อ ช่วงแรก ระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. ห้องที่ 1 สัมมนาหัวข้อ "การพัฒนางานวิชาการและวิจัย เพื่อยกระดับการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย และสร้างสังคมสุจริต" ประกอบด้วย การเสนอบทความวิจัย/วิชาการ การเสนอผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัยและวิชาการ เพื่อยกระดับการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยและสร้างสังคมสุจริต และ ห้องที่ 2 สัมมนาหัวข้อ "การมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการสร้างสังคมสุจริต" ประกอบด้วย การเสนอผลการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนช่อสะอาด การนำเสนอผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่างอื่นๆ และการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการสร้างสังคมสุจริต จากนั้น ระหว่างเวลา 14.15 - 16.30 น. ห้องที่ 1 สัมมนาหัวข้อ "นวัตกรรมและการสื่อสารเพื่อการยกระดับการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย และสร้างสังคมสุจริต" ประกอบด้วย การเสนอผลงานหนังสั้นที่ได้รับคัดเลือก การนำเสนอผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทาง การพัฒนานวัตกรรมและการสื่อสารเพื่อการยกระดับการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย และสร้างสังคมสุจริต และ ห้องที่ 2 สัมมนาหัวข้อ "เยาวชนกับการสร้างสังคมสุจริต" ประกอบด้วย การนำเสนอผลการดำเนินการโครงการที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน (โครงการยุวทูต ป.ป.ช. และโครงการค่ายเยาวชนสัมพันธ์ ป.ป.ช.) การนำเสนอผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการสำหรับเยาวชน ทั้งนี้ ในการสัมมนากลุ่มย่อยได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการผู้แทนสถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้แทน UNDP ผู้แทนศูนย์คุณธรรม และผู้แทนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำผลที่ได้ไปพัฒนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ให้บรรลุผลต่อไป
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเมินความสำเร็จในการบูรณาการยุทธศาสตร์ฯ สู่การจัดตั้งและพัฒนาหมู่บ้าน / ชุมชนช่อสะอาด โดยประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การสร้าง และยกระดับการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และพัฒนากลไกป้องกันการทุจริต และยกระดับงานวิชาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วยกระบวนการวิจัยประเมินผล เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและนำสู่เป้าหมายที่จะสร้างสังคมสุจริตต่อไป